พัฒนาคุณภาพกาแฟดอยสะเก็ดฯ

623

กรมส่งเสริมสหกรณ์ประกาศความสำเร็จพัฒนาคุณภาพกาแฟสหกรณ์ดอยสะเก็ด กาเเฟเกรดพรีเมี่ยม

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามโครงการการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการพัฒนา
ฐานชุมชนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (กาแฟอาราบิกา) ณ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับ Mr.Takahiro Morita หัวหน้าผู้แทนสำนักงานไจก้าประเทศไทย (Chief Representative of JICA Thailand) Mr.Hanazawa Takafumi ผู้แทนประจำประเทศไทย เจ้าหน้าที่ JICA และ Mr.Masahiro Okada ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในฐานะที่ได้ร่วมมือกันทำโครงการดังกล่าวต่อเนื่องมาปีที่ 2 และจะเริ่มดำเนินการต่อไปเป็นปีที่ 3 ในปี 2565 เพื่อเป็นการขยายผลไปสู่การยกระดับกาแฟของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัดของไทยไปสู่เวทีกาแฟเกรดพรีเมี่ยมในตลาดระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการประกาศถึงศักยภาพของกาแฟไทยที่มีคุณภาพสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภค อีกทั้งเป็นกาแฟที่เป็นไปตามหลักของการส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟคุณภาพมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) จับมือกับไจก้า ในการพัฒนากาแฟอาราบิกาคุณภาพ ซึ่งไจก้ามีส่วนสำคัญที่ทำให้กาแฟในพื้นที่สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ประสบความสำเร็จ โดยได้ช่วยเหลือด้านวิชาการ ถ่ายทอดความรู้และให้คำแนะนำสมาชิกสหกรณ์ในการพัฒนาการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพ ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป การทำกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) และกาแฟจากแหล่งเพาะปลูกเดียว (single origin) โดยกาแฟของสหกรณ์ปลูกอยู่ในตำบลเทพเสด็จ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่ได้รับการรับรองให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเก็บกาแฟที่มีลักษณะสุกจัดเพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพดี โดยการทำริสแบนด์ติดที่ข้อมือเกษตรกร เพื่อให้เป็นคู่มือเทียบสีในขณะเก็บเกี่ยวกาแฟ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกเก็บเมล็ดกาแฟที่มีระดับความสุกที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพสูง โดยความร่วมมือในปีที่ 3 จะมีเป้าหมายการขยายผลไปสู่การพัฒนาการตลาด การจับคู่ธุรกิจ ซึ่งเบื้องต้นกรมฯ ได้สนับสนุนให้มีการจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ กับบริษัทญี่ปุ่น 4 บริษัท ที่ให้ความสนใจ นอกจากนี้หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นในปีหน้า กรมฯ ยังได้วางแผนการจัดงานเปิดบ้านสหกรณ์ (Open House) เพื่อประชาสัมพันธ์กาแฟที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพของสหกรณ์ จากนั้นจะขยายผลองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพกาแฟไปสู่ไปยังสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพกาแฟของสหกรณ์ทั้งระบบ” นายวิศิษฐ์ กล่าว

ด้าน Mr.Takahiro Morita หัวหน้าผู้แทนสำนักงานไจก้าประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อแรกเริ่มโครงการในปี 62 ได้มีการนำคณะทำงานของไทยเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อศึกษาการพัฒนาธุรกิจกาแฟของญี่ปุ่นและนำความรู้มาปรับกระบวนการพัฒนากาแฟในไทย แม้ช่วงสถานการณ์โควิดทำให้โครงการดำเนินการได้ล่าช้า แต่ทางไจก้าได้พยายามและผลักดันการเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น คือนายโอคาดะ มาช่วยดูแลกระบวนการผลิตกาแฟให้กับสมาชิกสหกรณ์ดอยสะเก็ดเป็นเวลา 1 ปี และในการเดินทางมาครั้งนี้ได้มีโอกาสไปชมสวนกาแฟที่บ้านปางบงของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดฯ ประทับใจที่ได้มีการนำวิธีการเก็บเกี่ยวที่มีการพัฒนาด้วยกันมาใช้ในการเก็บเกี่ยวกาแฟเชอร์รี่ และจากที่โครงการจะสิ้นสุดปีนี้ ไจก้าอยากให้มีการสานต่อและมุ่งเน้นส่งเสริมการตลาดกับภาคเอกชนจึงควรมีการหารือและสานต่อโครงการนี้ 

นายประหยัด เสนน้อง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ได้ร่วมกับไจก้าในการดำเนินโครงการ โดยคัดเลือกเกษตรกร 44 ราย เป็นเกษตรกรนำร่อง 12 รายที่จะเริ่มการพัฒนา ผลพบว่าในช่วง 2 ปี ที่ดำเนินการคุณภาพกาแฟดีขึ้น สามารถส่งเสริมการผลิตกาแฟจากแหล่งเพาะปลูกเดียวหรือ single origin ได้จนเป็นที่ยอมรับ โดยพื้นที่ปลูกกาแฟของเกษตรกรส่วนมากอยู่ในป่าและมีต้นไม้หลากหลาย  จึงทำให้มีกลิ่นที่พิเศษ มีเทสโน้ต (taste note) โทนผลไม้ตระกูลส้ม ได้แก่ ซิตรัส เลมอน และน้ำผึ้ง ซึ่งกาแฟ Single Origin นี้ สามารถขายได้ในราคาที่ดีกว่ากาแฟทั่วไป เนื่องจากผู้ผลิตรายอื่นยังไม่สามารถทำได้มากนัก  สำหรับการผลิตกาแฟของสมาชิกนั้นจะใช้ความรู้จากไจก้าส่งเสริมการปลูก การเก็บ ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อกาแฟจากสมาชิกโดยใช้ราคารับซื้อแบบขั้นบันได เพื่อจูงใจให้สมาชิกพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพ โดยในปี 2563 ได้มีการรวบรวมกาแฟกะลา จำนวน 17 ตัน และปี 64  จำนวน 22 ตัน ส่วนปี 65 มีแผนรวบรวมกาแฟกะลา จำนวน 35 ตัน และกาแฟเชอร์รี่ 18 ตัน จากเกษตรกร 7 หมู่บ้านที่ส่งให้สหกรณ์ สหกรณ์ได้มีการทดสอบรสชาติทุกราย โดยสหกรณ์ได้ส่งกาแฟของสมาชิกสหกรณ์เข้าประกวดงานสุดยอดกาแฟไทย (Thai Coffee Excellence) ที่มีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ร่วมจัดงาน โดยกาแฟของสมาชิกได้ลำดับที่ 14  คะแนนการชิม (cupping score) 82.40 นอกจากนี้ ยังได้ส่งกาแฟของสมาชิกเข้าประกวดงาน National Coffee Competition by SCATH 2021 ซึ่งจัดโดยสมาคมกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทย ได้คะแนนมากกว่า 80 คะแนน  ดังนั้น ต่อไปสหกรณ์จะเน้นการพัฒนากาแฟพิเศษให้มากขึ้น  

นายอานนท์ พวงเสน คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกหลานสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ที่ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรเหรียญทองแดง ในงานประกวดสุดยอดกาแฟไทยปี 2564 ประเภทคุณภาพกาแฟระดับดีมาก (very good) กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปด้วยวิธีเปียก (wet process) คะแนนการชิม (cupping score) 83.03 รวมทั้งมีแบรนด์กาแฟ “DOI PANG BONG” เป็นของตนเองด้วย กล่าวว่า พ่อแม่ปลูกกาแฟ 40 ปี ตนเองเพิ่งกลับมาอยู่บ้านและเริ่มทำจริงจัง 4  ปี ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนได้ลิ้มลองรสชาติและทราบว่ากาแฟคุณภาพจากบ้านปางบงเป็นอย่างไร จึงได้เริ่มทำแบรนด์ DOI PANG BONG ออกมาสู่ตลาด โดยใช้ความรู้จากไจก้าที่มาถ่ายทอด จะเก็บกาแฟที่สุกเต็มที่ เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีออกมาเป็นกาแฟที่ดี ผลผลิตของตนจะได้ 2-3 ตันต่อปี พื้นที่ 30 ไร่ รายได้ต่อปีประมาณ 2-3 แสนบาทต่อปี โดยสหกรณ์จะรับซื้อกะลาจากเกษตรกร การพัฒนาต่อไปคือการรักษาพันธุ์ พัฒนาคุณภาพและมุ่งสู่เวทีประกวด เพื่อให้ทราบว่าต้องพัฒนาอะไรเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค เชื่อว่าตลาดของกาแฟคุณภาพยังมี แต่ทำอย่างไรจะให้ผู้บริโภครับทราบว่ามีกาแฟดีที่ไหนบ้าง

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ข่าว