ชวนชิม ‘ส้มเขียวหวาน’ ภาคเหนือ ต้อนรับปีใหม่ ขณะนี้ออกตลาดแล้ว
นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตส้มเขียวหวานของภาคเหนือ แหล่งผลิตอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลของ สศก. ณ เดือนมีนาคม 2564 ภาคเหนือมีการเพาะปลูกส้มเขียวหวาน 11 จังหวัด มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 104,408 ไร่ (ร้อยละ 96 ของเนื้อที่ยืนต้นทั้งประเทศ) เนื้อที่ให้ผล 95,715 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 197,265 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 2,061 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ของปีถัดไป และออกกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม
สศท.2 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตส้มเขียวหวานของภาคเหนือ ในแหล่งผลิตสำคัญของพื้นที่รับผิดชอบ 3 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย แพร่ และน่านพบว่า ปี 2564 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 58,022 ไร่ (ร้อยละ 53 ของเนื้อที่ยืนต้นทั้งประเทศ) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 49,492 ไร่ (เพิ่มขึ้น 8,530 ไร่ หรือร้อยละ 17) เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูก เพราะเห็นว่ามีช่องทางการจำหน่ายมากขึ้นทั้งผ่านระบบออนไลน์ และออฟไลน์ที่สามารถสั่งซื้อ ณ จุดบริการเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ทุกสาขาทั่วประเทศ เนื้อที่ให้ผลรวม 51,007 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 47,162 ไร่ (เพิ่มขึ้น 3,845 ไร่ หรือร้อยละ 8) ผลผลิตรวม 94,799 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 65,555 ตัน (เพิ่มขึ้น 29,244 ตัน หรือร้อยละ 45) และผลผลิตเฉลี่ย 1,859 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 1,390 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้น 469 กิโลกรัม/ไร่ หรือร้อยละ 34) ทั้งนี้ ผลผลิตรวมและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยกว่าปีที่ผ่านมา ไม่มีโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดมากนัก ประกอบกับเกษตรกรดูแลเอาใจใส่บำรุงรักษาต้นและผลผลิตมากขึ้น
หากพิจารณาแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า สุโขทัย เป็นแหล่งผลิตอันดับ 2 ของภาคเหนือ รองจากจังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ยืนต้น 31,685 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 31,535 ไร่ ผลผลิตรวม 91,866 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 2,910 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดปีละ 3 รุ่น รุ่นที่ 1 เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ขณะนี้ออกตลาดแล้วร้อยละ 55 รุ่นที่ 2 เดือนมกราคม – เมษายน ผลผลิตจะมีรสชาติอร่อยที่สุด เพราะเป็นช่วงที่มีฝนน้อย สีผิวสวยเป็นสีทองจากสภาพอากาศหนาวเย็น และรุ่นที่ 3 เดือนพฤษภาคม – กันยายน แพร่ มีเนื้อที่ยืนต้น 22,472 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 16,268 ไร่ ผลผลิตรวม 15,097 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 930 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดปีละ 3 รุ่น รุ่นที่ 1เดือนตุลาคม – มกราคม ขณะนี้ออกตลาดแล้วร้อยละ 50 รุ่นที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน และรุ่นที่ 3 เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม และน่าน มีเนื้อที่ยืนต้น 3,204 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 3,072 ไร่ ผลผลิตรวม 3,205 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,200 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดปีละ 2 รุ่น รุ่นที่ 1 เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ขณะนี้ออกตลาดแล้วร้อยละ 74 และรุ่นที่ 2 เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้ง 3 จังหวัด ณ เดือนธันวาคม 2564 แบ่งเป็น ส้มเขียวหวานขนาดใหญ่ 21 – 25 บาท/กิโลกรัม ขนาดกลาง 15 – 20 บาท/กิโลกรัม และขนาดเล็ก 5 – 10 บาท/กิโลกรัม
สำหรับความโดดเด่นของส้มเขียวหวานแต่ละพื้นที่ พบว่า ส้มเขียวหวานแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ประกอบกับสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็น แร่ธาตุในดินจากบ่อน้ำร้อนที่มีอยู่ในพื้นที่ จึงกระตุ้นให้เกิดสีทองบนผิวส้ม ส้มเขียวหวานสีทอง อำเภอวังชิ้นและอำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ฉ่ำน้ำ เนื้อผลสีส้ม เปลือกบางล่อน ปอกง่าย ชานของส้มนิ่ม ด้วยสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกันทำให้สีผิวและรสชาติของส้มใกล้เคียงกับส้มแม่สิน และส้มสีทองของจังหวัดน่าน ด้วยสภาพภูมิอากาศของจังหวัดที่แตกต่างจากที่อื่นส่งผลให้สารคาร์ทีนอยพิคเมนท์ในเปลือกส้มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทอง มีเปลือกบาง เนื้อมีเส้นใยน้อย ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ประกอบกับกระบวนการผลิตของเกษตรกรจะมุ่งเน้นคุณภาพ เน้นความปลอดภัย ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ และตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี จึงได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่ปี 2556 ส้มสีทองน่านจึงเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาเฉลี่ยที่สูงกว่าจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดแพร่
การบริหารจัดการผลผลิตส้มเขียวหวานของภาคส่วนต่าง ๆ ในแต่ละจังหวัดส่วนใหญ่เป็นการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการผลิตแบบแปลงใหญ่ ภายใต้นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทั้ง 3 จังหวัด มีเกษตรกรรวมกลุ่มแปลงใหญ่ส้มเขียวหวาน จำนวน 12 แปลง อยู่ในจังหวัดสุโขทัย 6 แปลง แพร่ 4 แปลง และน่าน 2 แปลง เพื่อบริหารจัดการด้านการผลิต แปรรูป และตลาด การยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี รวมทั้งผลักดันให้ได้รับการขึ้นทะเบียน GI และกระจายผลผลิตส้มเขียวออกนอกแหล่งผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ และป้องกันไม่ให้เกษตรกรถูกกดราคา โดยใช้กลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตร ระดับจังหวัด ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลผลิตส้มเขียวหวานของทั้ง 3 จังหวัด มีจุดเด่นในเรื่องของรสชาติ และการผลิตตามคุณภาพมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นสำคัญ ซึ่งการพัฒนาส้มเขียวหวานในแหล่งผลิตทั้ง 3 จังหวัด ให้เกิดความยั่งยืนนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบูรณาการครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งในเรื่องของการคัดเลือกพื้นที่ปลูกและสายพันธุ์ที่เหมาะสม ส่งเสริมการรวมกลุ่มระบบเกษตรแปลงใหญ่ สร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการแปลงด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม แปรรูปผลผลิตให้หลากหลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าต่อยอดสู่ Premium Product และการเชื่อมโยงตลาด ซึ่งขณะนี้ส้มเขียวหวานของทั้ง 3 จังหวัด ทยอยออกสู่ตลาดแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตส้มเขียวหวานออกมากที่สุดด้วย จึงขอเชิญชวนประชาชนบริโภคส้มเขียวหวาน ที่มีรสชาติอร่อยพร้อมด้วยคุณค่าทางอาหาร เพื่อสนับสนุนผลผลิตที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตส้มเขียวหวานภาคเหนือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.2 โทร 0 5532 2650 หรืออีเมล์ [email protected]
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว