เตรียมผลักดัน GI “มะพร้าวนกคุ่ม” สินค้า Future Crop สร้างรายได้เกษตรกรประจวบคีรีขันธ์
นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นแหล่งผลิตมะพร้าวแหล่งใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ เกษตรกรในชุมชนมีอาชีพทำสวนมะพร้าว และแปรรูปมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ มะพร้าวนับเป็นสินค้าทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) ประกอบกับจังหวัดเร่งดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงรักษามาตรฐานของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเตรียมผลักดันมะพร้าวพันธุ์ “นกคุ่ม” ซึ่งเป็นมะพร้าวพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอทับสะแก เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) และคาดว่าจะได้ขึ้นทะเบียน GI ในปี 2567 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอทับสะแกอยู่ระหว่างดำเนินการรวมกลุ่ม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และรวบรวมข้อมูลพื้นที่และเกษตรกรในการขอรับความคุ้มครอง
จากการลงพื้นที่ของ สศท.10 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตมะพร้าวพันธุ์นกคุ่ม ในพื้นที่อำเภอทับสะแก พบว่า เกษตรกร ให้ความสนใจเพาะปลูกมากขึ้น เนื่องจากต้องการอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองของอำเภอทับสะแกเพราะเป็นที่หายาก และต้องการส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สำหรับมะพร้าวพันธุ์นกคุ่ม จัดอยู่ในกลุ่มพันธุ์มะพร้าวต้นเตี้ย ลักษณะลำต้นเล็ก ตาใบถี่ เป็นมะพร้าวที่ให้ผลดก ผลมีขนาดเล็กคล้ายนกคุ่ม ลูกกลมก้นแหลม เหมาะสำหรับรับประทานสดเพราะมีรสชาติหอมหวาน น้ำมีความหวานระหว่าง 7-10 องศาบริกซ์ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกเป็นสวนผสม แซมในสวนมะพร้าวแก่ ซึ่งจากการติดตามกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวนกคุ่ม ตำบลทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีศักยภาพในการผลิต เนื่องจากเกษตรกรมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร เช่น แหล่งน้ำ และดินในการเพาะปลูก โดยเริ่มรวมกลุ่มเมื่อปี 2560 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวนกคุ่มกว่า 20 ไร่ มีเกษตรกรสมาชิก 5 ราย ด้านสถานการณ์ผลิตมะพร้าวนกคุ่มของกลุ่ม มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 19,117 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 20 ปี) รอบการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรอยู่ที่ประมาณ 20 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน ผลผลิตของกลุ่มทั้ง 20 ไร่ รวม 78,540 ผล/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 3,927 ผล/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 39,273 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 20,156 บาท/ไร่/ปี ราคามะพร้าวนกคุ่ม (ผลสด) ณ วันที่ 5 มกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาท/ผล ทั้งนี้ หากคิดเป็นผลตอบแทนของทั้งกลุ่มจะได้กำไร 403,120 บาท/ปี
ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จำหน่ายพ่อค้าในพื้นที่และนอกพื้นที่ ซึ่งมารับซื้อผลผลิตที่สวนเกษตรกร ส่วนผลผลิตร้อยละ 30 จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยวบ้านทุ่งประดู่ โดยสวนมะพร้าวของกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวนกคุ่ม เป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ จึงเป็นอีกช่องทางสำคัญในการจำหน่ายผลผลิต สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวนกคุ่ม มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนสมาชิก ขยายพื้นที่ปลูก และเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและเพิ่มโอกาสทางการค้า
ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวทิ้งท้ายว่า มะพร้าวนกคุ่มนับเป็นพืชที่มีอนาคตสดใส มีโอกาสทางการตลาด เพื่อให้เกิดการพัฒนามะพร้าวนกคุ่มมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรมีการฟื้นฟูต้นมะพร้าวที่มีอยู่เดิม ส่งเสริมการปลูกใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการและการนำไปใช้สำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โอกาสนี้ ขอเชิญชวนผู้บริโภคมะพร้าวผลสดทุกท่านร่วมสนับสนุนผลผลิตที่มีคุณภาพของเกษตรกร โดยสามารถสั่งซื้อได้ที่วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ หรือช่องทางออนไลน์ Facebook “หมู่บ้าน CIV บ้านทุ่งประดู่” และ “สวนมะพร้าวลุงบูรณ์ทับสะแก” ซึ่งผลผลิตจะออกต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตมะพร้าวนกคุ่ม ติดต่อได้ที่ นายวิบูรณ์ บุญลบ ตัวแทนสมาชิกของกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวนกคุ่ม ตำบลทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร. 06 4939 6524 ยินดีให้คำปรึกษาทุกท่าน หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 ราชบุรี โทร 0 3233 7954 หรืออีเมล [email protected]
นางสาวศิริพร จูประจักษ์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10)
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว