เกษตรฯ ถกแผนแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจ

1,042

เกษตรฯ ถกแผนแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ

นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานจัดทำแผนแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ครั้งที่ 1/2565 (ครั้งที่ 3) ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Cloud Meeting) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับการผลิตและการตลาดผลไม้ ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เช่น ปัญหาภัยพิบัติ ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น ส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย เกิดความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้า ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน จึงมีความจำเป็นจะต้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ โดยแผนดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการผลิตและด้านการตลาด  

สำหรับด้านการผลิตนั้น ปัจจัยสำคัญได้แก่ ภัยพิบัติ/โรคพืช ที่ส่งผลทำให้ผลผลิตผลไม้เกิดความเสียหาย ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะพิจารณาช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐ ส่วนผลกระทบต่อระบบโลจิติกส์ทำให้ระบบขนส่งไม่สามารถเข้าถึงในพื้นที่และกระจายผลผลิตข้ามจังหวัดได้ กำหนดมาตรการสร้าง Platform ข้อมูลเก็บเกี่ยวเชิงพื้นที่แบบ Real Time จัดตั้งศูนย์รวบรวม/กระจาย ระดับหมู่บ้าน/ตำบล รวมถึงการสร้าง Plat Form เชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งกับบริษัทไปรษณีย์ไทย/บริษัทขนส่งเอกชน รวมถึงปัจจัยจากโรคระบาดโควิด-19  ที่คาดว่าจะส่งผลด้านขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยว/รวบรวม/กระจาย จึงได้กำหนดมาตรการขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องผ่อนปรนการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาค โดยให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ส่งกำลังพลเข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลไม้

ส่วนด้านการตลาด โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อระบบโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ระบบขนส่งล่าช้า ติดขัด ผลผลิตไม่สามารถขนส่งได้ ทำให้กระจุกตัว เสียหาย จนถึงราคาตกต่ำ ซึ่งการแก้ไขคือต้องกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตให้ได้โดยเร็ว โดยที่ประชุมได้กำหนดมาตรการใช้ระบบขนส่ง/จำหน่ายผ่านไปรษณีย์ไทย/บริษัทขนส่ง มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ 12 มาตรการ และโครงการจำหน่ายผ่านสถาบันเกษตรกร ส่วนของโลจิสติกส์ต่างประเทศ ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ผลผลิตไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ระบบขนส่งต่างประเทศมีน้อย ติดขัดทั้งทางเรือ/บก/อากาศ ซึ่งต้องกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตเช่นเดียวกัน โดยมีมาตรการ คือ มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ 6 มาตรการ โครงการทางด่วนตรวจปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ โครงการ Move & Seal จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตั้งศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ ระบบการขนส่งในรูปแบบต่าง ๆ  นอกจากนี้ยังมีในส่วนของมาตรการ/ข้อกีดกันทางการค้า ด่านปิด/SPS/ภาษี โดยผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ไม่สามารถส่งสินค้าออกไปยังประเทศปลายทางได้ ต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดข้อเสียเปรียบทางการแข่งขัน ที่ประชุมจึงได้กำหนดมาตรการให้ทูตพาณิชย์/ทูตเกษตร เร่งเจรจาเปิดด่านขอความช่วยเหลือให้สามารถส่งออกได้ เจรจาผ่อนผันข้อกีดกันต่าง ๆ เพื่อให้ส่งออกได้ ขอลดอัตราภาษีเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ปี 2565 กรณีเหตุการณ์ไม่ปกติ เพื่อให้สอดคล้องตามแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบทั้ง 2 ด้าน จำนวน 5 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการป้องกัน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับเหตุการณ์ไม่ปกติ 2) มาตรการช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่ปกติ 3) มาตรการช่วยเหลือในกระจายสินค้า ควบคุมคุณภาพ และกระตุ้นการบริโภคผลไม้ในประเทศ 4) มาตรการช่วยเหลือสนับสนุนการส่งออกผลไม้ไทย และ 5) มาตรการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในหลายแผนงานมาตรการ/โครงการ เช่น โครงการฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ โครงการข้อมูลเกษตรกรเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลผลไม้ในกรณีเหตุการณ์ไม่ปกติ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติล่วงหน้าที่ส่งผลกระทบต่อผลไม้ โครงการผลไม้ไทยปลอดภัยจาก COVID-19 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ปี 2565 กรณีเหตุไม่ปกติ และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว