เกษตรฯ เดินหน้าหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร

891

เกษตรฯ เดินหน้าโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร รณรงค์เข้มพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้าโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรและปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรมาทำการเกษตรแบบปลอดการเผา โดยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา เพื่อเร่งรัด จัดการ และแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และเนื่องจาก จ.สุพรรณบุรีมีจุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่การเกษตร โดยการสำรวจในปี 2564 จำนวนมากถึง 96 จุด กรมส่งเสริมการเกษตรจึงดำเนินการจัดงานรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี เน้นการถ่ายทอดความรู้และสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ช่วงการเก็บเกี่ยวในพื้นที่ทำการเกษตร ภายในงานมีการสาธิตการใช้เครื่องตัดตอซัง การไถกลบ และการหว่านปอเทือง พร้อมสถานีการเรียนรู้ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ 1) การส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา (ชาวนารักษ์โลก) 3) นำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา และ 4) สาธิตการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีจุดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดการเผาในที่โล่ง การป้องกันและลดผลกระทบจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 การปลูกพืชหลังนา การลดการเผาตอซังข้าวและการไถกลบตอซัง การปรับระดับแปลงนาให้เรียบสม่ำเสมอ และการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ทางเลือกการใช้เทคโนโลยีทดแทนการเผา และความรู้ด้านการขยายพันธุ์พืช การสนับสนุนพืชพันธุ์ดีจากกรมส่งเสริมการเกษตร อาทิ ต้นพันธุ์ฟ้าทะลายโจร เมล็ดพันธุ์ผักกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบแดง และพริกหอมสุพรรณ เป็นต้น และผลิตภัณฑ์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และ Young Smart Farmer ในจังหวัดสุพรรณบุรี อีกด้วย

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในปี 2565 จ.สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถเป็นวิทยากรได้ จำนวน 5 กลุ่ม กลุ่มละ 60 ราย แบ่งเป็น กลุ่มใหม่ (ปี 2565) จำนวน  1 อำเภอ ได้แก่ อ.ดอนเจดีย์ และกลุ่มเดิม (ปี 2564) จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่  อ.สองพี่น้อง อ.บางปลาม้า อ.เดิมบางนางบวช อ.ศรีประจันต์ จากนั้นนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา จำนวน 1 กลุ่ม (กลุ่มใหม่ อ.ดอนเจดีย์) กลุ่มละ 60 ราย และดำเนินการรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ณ อ.ดอนเจดีย์ เกษตรกรเข้าร่วม 200 ราย โดยมีกิจกรรมสร้างการรับรู้และกิจกรรมเสนอทางเลือกลดการเผา ดังนี้ 1) ถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถเป็นวิทยากรได้ ซึ่งเกษตรกรมีความสนใจเรื่องการเพาะเห็ดฟาง, น้ำหมักสลายตอซัง, การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย และการแปรรูปฟางข้าวโดยอัดเป็นแท่ง 2) นำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา โดยการไถกลบตอซังอ้อย, การใช้รถตัดตอซังข้าว, การทำปุ๋ยหมักจากใบอ้อยและฟางข้าว 3) รณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเกษตรกรให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตรและนำเสนอทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา และ 4) ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยเพื่อรองรับรถตัดเพื่อลดการเผาอ้อย

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าจำนวนจุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่การเกษตร จ.สุพรรณบุรี มีแนวโน้มลดลง ตั้งแต่ปี 2562 – 2564 และในปี 2565 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายให้พื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่การเกษตร ของ จ.สุพรรณบุรีลดลง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ลดลง พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศดีขึ้น และสุขภาพของประชาชนที่ดีขึ้นกว่าเดิม หากเกษตรกรท่านใดสนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว