เกษตรฯ พัฒนาไม้ผลอัตลักษณ์

932

เกษตรฯ มุ่งพัฒนาเจ้าหน้าที่ เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการไม้ผลตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น

นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายส่งเสริมให้นักวิชาการเกษตรและเกษตรกรคัดเลือกพืชในพื้นที่มาส่งเสริมเป็นผลไม้อัตลักษณ์ ผ่านโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 เน้นการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าด้วยมาตรฐานการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รวมทั้งพัฒนาความรู้และเพิ่มศักยภาพ โดยกระบวนการทำงานในพื้นที่ในการพัฒนาสินค้าไม้ผลตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 5 กิจกรรม ได้แก่ พัฒนาความรู้เจ้าหน้าที่ พัฒนาเกษตรกร พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่ม การบริหารงานตามยุทธศาสตร์ผลไม้ และบริหารจัดการโครงการ ทั้งนี้ งานส่งเสริมการผลิตไม้ผลเป็นงานสำคัญงานหนึ่งของกรมส่งเสริมการเกษตร มีความท้าทายทั้งเรื่องความยากของงานและความเร่งด่วนของระยะเวลาปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานไม้ผล จึงต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน คือ รู้และแม่นยำในการทำข้อมูล ในขณะเดียวกันก็ต้องผสานความคิดสร้างสรรค์ลงไปในงานที่รับผิดชอบได้อย่างลงตัว ฉะนั้น การเตรียมความพร้อมและพัฒนาความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ด้านการบริหารจัดการผลไม้ เพื่อการพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญา

สำหรับตัวอย่างสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์ที่มีชื่อเสียง เช่น ส้มโอปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สละป่าบอน อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ทุเรียนชะนีเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เป็นต้น ซึ่งล้วนจัดเป็นสินค้าสร้างชื่อ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่มีการส่งออกมากที่สุด คือ ทุเรียน รองลงมา ได้แก่ ลำไย มังคุด มะม่วง เงาะ ลิ้นจี่ และลองกอง ในขณะที่ผลไม้พื้นถิ่นซึ่งเป็นผลไม้กลุ่มเศรษฐกิจรองก็มีความสำคัญเช่นกัน และยังได้รับความนิยมสูงเท่าเทียมกัน จะเห็นได้จากมีมูลค่าการซื้อขายในประเทศสูง รวมทั้งมีตลาดเฉพาะอีกด้วย

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งฐานราก ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจชุมชนผ่านอัตลักษณ์ของพื้นที่ ส่งเสริมให้สามารถใช้ประโยชน์และต่อยอดจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทรัพยากรในพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาการเกษตร เศรษฐกิจ และสังคมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งมีเรื่องราวแหล่งกำเนิดสินค้า (Story) ทำให้มีความแตกต่างจากสินค้าที่ผลิตจากแหล่งอื่น ๆ มีความโดดเด่น มีศักยภาพ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างมูลค่าโดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตลอดจนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และสามารถนำไปส่งเสริมให้เกษตรกร เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ ตลอดจนสามารถพัฒนายกระดับเพื่อเข้าสู่การรับรอง GI โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว