Fruit Board กางแผนแก้ไขปัญหาผลไม้

589

Fruit Board กางแผนแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ พร้อมวางแนวทางบริหารผลไม้ภาคเหนือ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 1/2565 ว่า คณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบมีมติเห็นชอบร่างแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ปี 2565 กรณีเหตุการณ์ไม่ปกติ จำนวน 5 มาตรการ 21 โครงการ ตามข้อเสนอของคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ประกอบไปด้วย มาตรการป้องกันเพื่อเตรียมรองรับเหตุการณ์ไม่ปกติ มาตรการช่วยเหลือในการกระจายสินค้า ควบคุมคุณภาพ และกระตุ้นการบริโภคผลไม้ มาตรการช่วยเหลือสนับสนุนการส่งออกผลไม้ไทย มาตรการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ และมาตรการช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่ปกติ ทั้งนี้ มีโครงการที่ต้องการขอรับสนับสนุนงบประมาณจากเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตลอด supply chain (ทุเรียน ลำไย) โครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้เพื่อยกระดับราคาไม่ให้ตกต่ำของสถาบันเกษตรกร โครงการรวบรวมและกระจายผลไม้ออกจากแหล่งผลิต และโครงการเร่งดำเนินการตรวจรับรองแปลง GAP และโรงคัดบรรจุ GMP โดยมอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพหลักแต่ละโครงการประสานงานกับกรมการค้าภายใน เพื่อดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป นอกจากนี้ยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาโครงการมหานครผลไม้ และการขนส่งผลไม้ผ่านสนามบินจันทบุรี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนโครงการศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้และการพัฒนาสนามบินสู่สนามบินเชิงพาณิชย์ ตลอดจนเชิญบุคคล ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อมาให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นที่จำเป็นต่อคณะทำงาน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้มอบหมาย

ด้าน นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดประชุมเฉพาะกิจแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ระดับ Area based ผลไม้ภาคเหนือ รวมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีสาระสำคัญ คือระดับ Area based ภาคเหนือ มีข้อคิดเห็นด้านแรงงาน ให้จังหวัดมีการผ่อนผันการเคลื่อนย้ายแรงงาน และมีคณะกรรมการระดับตำบลทำการขึ้นทะเบียนแรงงาน เช่น ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล เกษตรตำบล เป็นต้น ด้านผู้ประกอบการ (ล้ง) ให้ร่วมกันกำหนดราคาขั้นต่ำในการรับซื้อผลผลิตในแต่ละเกรด และสร้างความเป็นหุ้นส่วนร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ ด้านการบริหารจัดการ ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการเปิดตลาดต่างประเทศใหม่ กำหนด Model การค้าเพื่อให้เกิดระบบการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) และการนำเทคโนโลยี Smart Farming มาใช้ในการพัฒนา Packaging และสร้างแบรนด์ ส่วนเรื่องของ Product based : ลำไย มีข้อคิดเห็น ด้านการแปรรูป/ผลิตภัณฑ์ใหม่ (สดช่อ/รูดร่วง/อบแห้งเนื้อสีทอง) ให้ศึกษาแนวทางการรับรองพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เพื่อให้สามารถส่งออกได้ และมีการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สำหรับลำไยทุกแปลงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ด้านการตลาดผู้ประกอบการควรมีการกำหนดราคาขั้นต่ำในการรับซื้อลำไย เพื่อให้ภาครัฐนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาผลผลิต หรือเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ทดแทนการช่วยเหลือเยียวยา โดยมติที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดทำ Model การค้าต้นแบบที่จังหวัดลำพูน โดยมอบหมายให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ผู้ประกอบการ(ล้ง) สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ พาณิชย์จังหวัด และคณะอนุกรรมการความร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กร.กอ.) ภาคเหนือ บูรณาการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลโลจิสติกส์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์ผลไม้ในพื้นที่ภาคเหนือพบว่า ขณะนี้ลำไยผลผลิตจะออกมากในเดือนสิงหาคม ส่วนลิ้นจี่ผลผลิตจะออกมากในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งผลไม้ทั้ง 2 ชนิด คาดการณ์ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์เนื่องจากหากระทบแล้งช่วงเดือนเมษายน จะทำให้ดอกและผลอ่อนร่วง และสลัดลูกทิ้งได้ ด้านสถานการณ์ผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก ทุเรียนคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม โดยจะออกกระจุกตัวมากสุดในเดือนพฤษภาคม  มังคุดคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนกรกฎาคม โดยจะออกกระจุกตัวมากสุดในเดือนพฤษภาคม เงาะคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกลางเดือนสิงหาคม โดยจะออกกระจุกตัวมากสุดในเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายน และลองกองคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนกันยายน โดยจะออกกระจุกตัวมากสุดในเดือนกรกฎาคม

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว