ระวัง 3 หนอนกออ้อย

637

กรมวิชาการเกษตรเตือนชาวไร่อ้อยระยะแตกกอต้องเฝ้าระวัง 3 หนอนกออ้อย

จากสภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า แดดจัดในตอนกลางวัน ท้องฟ้ามีเมฆบางส่วน และมีฝนตกบางพื้นที่กรมวิชาการเกษตรขอแจ้งเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยขอให้หมั่นสำรวจไร่อ้อยซึ่งอยู่ในระยะแตกกอเพื่อเฝ้าระวัง หนอนกออ้อย ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญที่พบเข้าทำลายอ้อย มี 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และหนอนกอสีชมพู โดยให้สังเกตลักษณะการทำลายของหนอนแต่ละประเภท ดังนี้

หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย การเข้าทำลายของหนอนกอลายจุดเล็กจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 5 – 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ หนอนยังเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยหนอนเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ซึ่งทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีขาว หนอนเจาะไชจากส่วนยอดเข้าไป กัดกินยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดแห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ส่วนใบยอดอื่น ๆ ที่หนอนเข้าทำลายจะมีลักษณะหงิกงอ และมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำแล้วหนอนจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถสร้างปล้องให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะแตกหน่อขึ้นมาทางด้านข้าง เกิดอาการแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีชมพู หนอนเจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนของหน่ออ้อยระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย ถึงแม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะสามารถแตกหน่อใหม่เพื่อชดเชยหน่ออ้อยที่เสียไป แต่หน่ออ้อยที่แตกใหม่จะมีอายุสั้นลง ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

แนวทางในการป้องกันและกำจัด ในแหล่งชลประทานควรให้น้ำเพื่อให้อ้อยแตกหน่อชดเชย  ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา อัตรา 30,000 ตัว/ไร่/ครั้ง โดยปล่อยติดต่อกัน 2 – 3 ครั้ง ช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย ปล่อยแมลงหางหนีบอัตรา 500 ตัว/ไร่ โดยปล่อยให้กระจายทั่วแปลง และควรปล่อยให้ชิดกออ้อย และใช้ใบอ้อยหรือฟางที่เปียกชื้นคลุมจะช่วยให้โอกาสรอดสูงขึ้น และทำการปล่อยซ้ำถ้าการระบาดยังไม่ลดลงช่วงที่พบหนอนกออ้อยและกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย หากปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาไม่ต้องปล่อยแมลงหางหนีบ เพราะแมลงหางหนีบจะกินแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาด้วย

ในระยะอ้อยแตกกอหรือเมื่ออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ให้พ่นสารฆ่าแมลงเดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นโดยใช้น้ำ 50 ลิตรต่อไร่พ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในแปลงที่ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา และแมลงหางหนีบ

กรมวิชาการเกษตร ข่าว