เกษตรฯ ขับเคลื่อนแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ผ่านหลัก “ตลาดนำการผลิต”
วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา การขับเคลื่อนแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 และให้เกียรติขึ้นบรรยายในหัวข้อ “ความท้าทายของเกษตรไทยในยุค Next Normal” โดยมี นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และมีนางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมการข้าว เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21 -23 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมเดอะไพรเวซี่ บีช รีสอร์ท แอนด์สปา อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ดร.ทองเปลว เปิดเผยว่า การดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยใช้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” มีเป้าหมายที่จะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ 3 ประการ คือ 1) สามารถบริหารจัดการอุปทานของข้าวให้อยู่ในปริมาณสมดุลกับอุปสงค์ 2) การผลิตข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและลดต้นทุนการผลิต และ 3) ราคาข้าวเปลือกมีเสถียรภาพคุ้มค่ากับต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนา ตลอดจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้ดีขึ้น หลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับที่ 1 และแผนระดับที่ 2 คือ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแผนปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2) ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3) ยุทธศาสตร์ 3’S (Safety/Security/Sustainability) 4) ยุทธศาสตร์บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการทุกภาคส่วนและ 5) ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวศาสตร์พระราชา
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มีการวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรมาแล้ว 6 ปี แต่แนวโน้มการผลิตและการตลาดข้าวยังคงมีความผันผวน จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ภัยธรรมชาติ และความตึงเครียดทางการเมือง รวมทั้งการแข่งขันในตลาดโลกค่อนข้างสูงจากทั้งอินเดีย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาและสหรัฐอเมริกา ปัญหาด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนการแข่งขันทางด้านการวิจัยและพัฒนาข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนการผลิตและการตลาดให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก มุ่งเน้นหลักการตลาดนำการผลิต เชื่อมโยงเกษตรกรกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่มาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบปลอดภัย และมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ยกระดับความเป็นอยู่ รายได้ และความสุขของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ด้านนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า สินค้าข้าว เป็นสินค้าเกษตรชนิดแรกที่ใช้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ได้มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง (ธ.ก.ส) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ภายใต้หลักการ “การตลาดนำการผลิต” ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 ช่วง ได้แก่ 1) ช่วงกำหนดอุปสงค์ อุปทาน 2) ช่วงการผลิต 3) ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว 4) ช่วงการตลาดภายในประเทศ และ 5) ช่วงการตลาดต่างประเทศ โดยกรมการข้าวได้รับมอบหมายเป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดำเนินการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ซึ่งได้ดำเนินงานตั้งแต่ปีการผลิต 2559/60 จนถึงปัจจุบัน
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2565 กรมการข้าวได้ขับเคลื่อนนโยบายและโครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ สร้างความร่วมมือ ร่วมใจให้แก่บุคลากร ก่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ และสามารถดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และสามารถแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม
กรมการข้าว ข่าว