FOA ประกาศขึ้นทะเบียน “ควายปลัก” (ควายน้ำ) แห่งทะเลน้อย เป็นมรดกโลกทางการเกษตรของไทย
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ รับฟังรายงานจากองค์กรเครือข่ายผู้เลี้ยง “ควายปลัก” (ควายน้ํา) แห่งทะเลน้อยที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางการเกษตร (GIAHS) ของไทย จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ณ สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปมอบถุงยังชีพปศุสัตว์และหญ้าแห้งพระราชทาน จำนวน 4 ตัน ให้กับผู้แทนเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงควายทะเลน้อย และพบปะ พูดคุย รับฟังปัญหา พร้อมให้กำลังใจแก่กลุ่มสหกรณ์จังหวัดพัทลุง รวมทั้งติดตามการส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ อัตลักษณ์ถิ่นของเกษตรกร และการเตรียมการช่วยเหลือจากสถานการณ์อุทกภัยตามฤดูกาล
ทั้งนี้ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหัวป่าเขียว จำกัด กลุ่มองค์กรเครือข่าย และประชาชน กว่า 300 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเลี้ยงควายปลัก ในพื้นที่ป่าชื้นเขตอนุรักษ์ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีเนื้อที่ประมาณ 280,000 ไร่ และมีพื้นที่ชุ่มน้ำสามารถเลี้ยงปศุสัตว์ได้ ประมาณ 17,500 ไร่ ทำให้เกิดวิถีวัฒนธรรมการเลี้ยงควายปลัก หรือควายน้ำ จนถึงปัจจุบันมีประมาณ 4,000 ตัว ควายจะมีการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดทําให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ําท่วมแหล่งพืชอาหารสัตว์ที่ควายหากินทุกปีในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน จะประสบปัญหาขาดแคลนทําให้ควายตายปีละ 100-200 ตัวทุกปี
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 เป็นต้นมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมดังกล่าวนี้จึงได้ประสานขอขึ้นทะเบียน “ควายปลัก” (ควายน้ำ) แห่งทะเลน้อย เป็นมรดกโลกทางการเกษตร (GIAHS) ของไทย จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งทางคณะกรรมการได้ตรวจสอบพื้นที่จริงในการขอรับรองระบบการเลี้ยงควายปลัก (ควายน้ำ) ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2565 และได้รับรองขึ้นทะเบียนควายปลัก หรือ ควายน้ำ ทะเลน้อย ซึ่งเป็นปศุสัตว์ชนิดแรกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกเกษตรโลก ในด้านการตลาดสหกรณ์ฯ ร่วมกับพันธมิตรเครือข่าย และเกษตรกรจะขายควายไปยังประเทศมาเลเชียหรือการบริโภคในท้องถิ่น ราคาเฉลี่ยตัวละ 40,000 – 50,000 บาท บางครัวเรือนเป็นอาชีพเสริมที่ดีมีรายได้เฉลี่ยปีละ 50,000 – 100,000 บาท ถือเป็นอาชีพหลักที่สำคัญ โดยสหกรณ์ฯ เข้าไปสนับสนุนด้านเงินทุนในการจัดหาพันธุ์ และวัตถุอาหารเป็นสำคัญ
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ข่าว