ประมงไทยร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทะเลอเมริกาเหนือ 2023

461

ประมงไทยยกทัพบุกบอสตัน ร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทะเลภูมิภาคอเมริกาเหนือ 2023 หนุนอวดศักยภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทยในเวทีโลก

อธิบดีกรมประมง นำคณะผู้แทนไทยร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทะเลของภูมิภาคอเมริกาเหนือ ปี 2566 (Seafood Expo North America and Seafood Processing North America 2023) ณ เมืองบอสตันรัฐแมสซาชูเซส ประเทศสหรัฐอเมริกา หนุนส่งเสริมภาพลักษณ์และอวดศักยภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทยในเวทีระดับโลก พร้อมใช้โอกาสนี้ หารือกับองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ถึงกฎระเบียบในการบังคับใช้ข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมง ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) เมื่อวันที่ 12-14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย พลตำรวจเอก จารุวัฒน์ ไวศยะ ประธานคณะอนุกรรมการติดตามการบังคับใช้กฎหมายการประมงและแรงงานในภาคการประมง และคณะผู้แทนไทย ได้เดินทางเข้าร่วมแสดงสินค้าอาหารทะเลของภูมิภาคอเมริกาเหนือ ปี 2566 (Seafood Expo North America and Seafood Processing North America 2023) ณ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซส ประเทศสหรัฐอเมริกาในระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยงานดังกล่าวเป็นงานแสดงสินค้าประมงที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 1,300 บริษัท จาก 50 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าร่วมชมงานมากถึง 23,000 คน ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมถึงเครื่องจักรเทคโนโลยีในการผลิต บรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษาคุณภาพสินค้า อีกทั้งยังมีการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อหาโอกาสทางการค้าร่วมกัน และในปีนี้มีหลายประเทศจากภูมิภาคเอเชียได้ร่วมออกร้านแสดงสินค้าและนิทรรศการเป็นลักษณะพาวิลเลี่ยน เช่น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทยซึ่งมีผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด ร่วมออกร้านด้วย  โดยคณะฯ ยังได้เข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการด้านการประมงที่จัดคู่ขนานกับงานแสดงสินค้า ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลวิชาการที่น่าสนใจ โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารทะเลชั้นนํา อาทิ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ความปลอดภัยของอาหารและการปฏิบัติตามข้อกําหนด ธุรกิจอาหารทะเลและความเป็นผู้นําความยั่งยืนของอาหารทะเล การตรวจสอบย้อนกลับและความโปร่งใส พลาสติกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล และผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อการค้าอาหารทะเลทั่วโลก เป็นต้น

การร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทะเลของภูมิภาคอเมริกาในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพด้านการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ในเวทีระดับโลก  และได้รับทราบถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดคู่ค้าต่างประเทศ รวมทั้งได้ศึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักร และเครื่องมือที่สมัยใหม่เพื่อนำมาใช้ตลอดสายการผลิต สำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงของไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคต่อไป

อธิบดีกรมประมง  กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางคณะยังได้ใช้โอกาสนี้เข้าพบ Ms. Alexa A. Cole ตำแหน่ง Director, Office of International Affairs Trade and Commerce  และ Ms. Oriana Villar ตำแหน่ง Foreign Affairs Specialist, Office of International Affairs, Trade, and Commerce  ซึ่งเป็นผู้แทนขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NOAA เพื่อหารือในประเด็นการดำเนินการของไทย และความคืบหน้าต่อกฎระเบียบในการบังคับใช้ข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมง ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA)  และ กฎระเบียบเพิ่มเติมด่านการตรวจสอบสินค้าประมงนําเข้า (SIMP) ซึ่งสหรัฐอเมริกามีแผนที่จะปรับเพิ่มจำนวนชนิดสัตว์น้ำที่นำเข้าในการรตรวจสอบภายใต้ระบบ SIMP ดังกล่าว

โดยการหารือครั้งนี้ มั่นใจว่า ผู้แทนของ NOAA มีความเข้าใจในการทำประมงและมาตรการในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ที่ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการปฎิบัติตามกฎระเบียบ MMPA และ ระบบ SIMP ของสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น  ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าสินค้าประมงกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทยได้เป็นอย่างดี และนับเป็นการสร้างโอกาสทางการแข่งขันในสินค้าประมงไทยต่อไปในอนาคตด้วย อธิบดีกรมประมง กล่าว

กรมประมง ข่าว