สศท.6 แนะพืชทางเลือก ทดแทนปลูกข้าวนาปรัง จ.ฉะเชิงเทรา

388

สศท.6 แนะพืชทางเลือกน่าสนใจ ทดแทนปลูกข้าวนาปรัง จ.ฉะเชิงเทรา รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายกฤช เอี่ยมฐานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/67 เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่โดยกำหนดพื้นที่การเพาะปลูกทั้งประเทศ 10.66 ล้านไร่ แบ่งเป็น การเพาะปลูกในเขตชลประทาน จำนวน 6.37 ล้านไร่ ได้แก่ ข้าวนารอบที่ 2 (นาปรัง) จำนวน 5.80 ล้านไร่ และพืชผัก จำนวน 0.57 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน จำนวน 4.29 ล้านไร่ ได้แก่ นาปรัง จำนวน 2.33 ล้านไร่  และพืชผัก จำนวน 1.96 ล้านไร่ แต่เนื่องจากในบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อยจึงมีความจำเป็นต้องงด การจัดสรรน้ำในการเพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 กระทรวงเกษตร ฯ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้รายงานสถานการณ์น้ำในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ของพื้นที่ภาคตะวันออกพบว่า พื้นที่เฝ้าระวังน้ำมาก (ขุนด่านปราการชล) จังหวัดนครนายก และพื้นที่เฝ้าระวังน้อยภาคตะวันออก (คลองสียัด) จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงขอให้หน่วยงานวางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำโดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่

 นายกฤช เอี่ยมฐานนท์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี

จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งได้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการทำนาโดยเฉพาะการทำนาปรัง เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนทิ้งช่วง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดนโยบายโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง มาตั้งแต่ปี 2564 ครอบคลุม 23 จังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดเดียวของภาคตะวันออกที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้ ในปี 2566 จังหวัดฉะเชิงเทราได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาปรังโดยปลูกพืชทางเลือกทดแทน โดย สศท.6 ในฐานะหน่วยงานคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัดจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานกำหนดราคาเกณฑ์รับซื้อผลผลิตภายใต้โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาปรังโดยปลูกพืชทางเลือกทดแทน เพื่อขับเคลื่อนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทราพร้อมด้วยหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา

สศท.6 ได้ดำเนินการศึกษาการผลิตและการตลาดพืชทางเลือกปลูกทดแทนข้าวนาปรังของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจากเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาปรัง โดยปลูกพืชทางเลือกทดแทนของจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวนตัวอย่าง 68 ราย พบว่า ปี 2565 ข้าวนาปรัง มีต้นทุนการผลิต 4,367.18 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 4,502.25 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 135.07 บาท/ไร่/รอบการผลิต ซึ่งข้าวนาปรังใช้น้ำในการเพาะปลูกถึง 1,100 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/รอบการผลิต ในขณะที่พืชทางเลือก 7 ชนิด ได้แก่ แหนแดง ถั่วเขียว ข้าวโพดหวาน แตงโม ฟักทอง ฟักแฟง และปอเทือง (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา) จะใช้น้ำในการเพาะปลูกเพียง 472 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/รอบการผลิต น้อยกว่าการทำนา 2 เท่า ซึ่งเกษตรกรจะปลูกพืชทางเลือกทดแทนในช่วงของนาปรัง (1 พฤศจิกายน – 30 เมษายน ของปีถัดไป) เพื่อลดการทำนาปรังของจังหวัดฉะเชิงเทราโดยพืชทางเลือกทดแทนข้าวนาปรังสามารถจำแนกต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนพืชทางเลือกที่น่าสนใจและสร้างรายได้ดีให้เกษตรกรในพื้นที่ 4 อันดับแรก พบว่า แหนแดง ต้นทุนการผลิต 10,923.11 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 544 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 32,640 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 21,716.89 บาท/ไร่/รอบการผลิต ถั่วเขียว ต้นทุนการผลิต 3,234.34 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 120.00 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 4,200 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 965.66 บาท/ไร่/รอบการผลิต ข้าวโพดหวาน ต้นทุนการผลิต 5,568.05 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลตอบแทน 1,000 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 6,500 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 931.95 บาท/ไร่/รอบการผลิต และแตงโม ต้นทุนการผลิต 13,381.64 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 2,210.00 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 15,470.00 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 2,088.36 บาท/ไร่/รอบการผลิต ด้านสถานการณ์ตลาดของพืชทางเลือก 7 ชนิด พบว่า ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 98 เกษตรกรจะส่งให้กับพ่อค้ารวบรวมในพื้นที่ เพื่อจำหน่ายให้กับพ่อค้าปลีกในพื้นที่ รวมทั้งผู้บริโภคทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด และผลผลิตที่เหลืออีกร้อยละ 2 เกษตรกรเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน

  สำหรับแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชทางเลือกทดแทนข้าวนาปรังมากที่สุด คือ ระยะเวลาการปลูกพืชทางเลือกทดแทนสั้นกว่าข้าวนาปรัง ใช้น้ำน้อยกว่าทำนาปรังและทำให้ดินฟื้นฟู การสนับสนุนปัจจัยในช่วงเริ่มปรับเปลี่ยน  การเชื่อมโยงตลาดของพืชทางเลือกทดแทนที่ชัดเจน และมีนโยบายประกันราคาพืชทางเลือกทดแทนข้าวนาปรัง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการส่งเสริมความรู้ของพืชทางเลือกทดแทน เพื่อนำความรู้ไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่บางชนิดไม่เหมาะสมเนื่องจากพื้นที่นาลุ่มต่ำ มีการติดตามดูแลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชทางเลือกชนิดอื่นเพิ่มเติม สนับสนุนแหล่งรวบรวมและรับซื้อผลผลิตพืชทางเลือกในพื้นที่ เพื่อความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างเกษตรกรและพ่อค้ารับซื้อ และควรขยายผลโครงการในรูปแบบนี้ไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีลักษณะเจาะจงตามศักยภาพของพื้นที่และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร

          ทั้งนี้ ข้อมูลผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ ของ สศท.6 ได้ดำเนินการเผยแพร่ ทางเว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร www.oae.go.th และ www.zone6.oae.go.th ในช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาแก้ไขปัญหา และเสนอแนะแนวทางการจัดการในการวางแผนการทำนาปรัง และนโยบายการพัฒนาส่งเสริมการผลิตพืชใช้น้ำน้อย รวมถึงเกษตรกรสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชทางเลือกทดแทนข้าวนาปรังต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลเชิงลึกของงานวิจัย สามารถสอบถามได้ที่ สศท.6 โทร 0 3835 1261 หรืออีเมล [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว