ส้มสายน้ำผึ้ง’ จ.เชียงใหม่ คาดขึ้นทะเบียน GI ธันวาคมนี้

321

‘ส้มสายน้ำผึ้ง’ จ.เชียงใหม่ สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ คาดได้ขึ้นทะเบียน GI ธันวาคมนี้ สศท.1 ชวนอุดหนุน ขณะนี้ผลผลิตออกตลาดแล้ว

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่นับเป็นแหล่งผลิตส้มเขียวหวานอันดับ 1 ของภาคเหนือ จากข้อมูลของ สศก. ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้น 38,443 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 36,528 ไร่ ผลผลิตรวม 122,315 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3,349 กิโลกรัม/ไร่ กิโลกรัม/ไร่ แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดร้อยละ 99 คือ “พันธุ์สายน้ำผึ้ง” เนื่องจากมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ชานในนิ่มเหมาะกับการรับประทานผลสดและเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยปีนี้ ผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 และจะออกมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2566 ประมาณ 48,437 ตัน ของผลผลิตทั้งจังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 40

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่

ด้านสถานการณ์ราคาส้มสายน้ำผึ้งจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2566 ในช่วงที่ผลิตออกสู่ตลาด พบว่า ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 แบ่งเป็น 5 เกรด ได้แก่ ส้มเบอร์ 6 ราคา 35 บาท /กิโลกรัม , ส้มเบอร์ 5 ราคา 25 บาท/กิโลกรัม , ส้มเบอร์ 4 ราคา 20 บาท/กิโลกรัม , ส้มเบอร์ 3 ราคา 15 บาท/กิโลกรัม และส้มเบอร์ 2 ราคา 10 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด พบว่า ผลผลิตส้มสายน้ำผึ้ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 71 ส่งจำหน่ายภายนอกจังหวัด และร้อยละ 29 จำหน่ายภายในจังหวัด

 สำหรับการบริหารจัดการผลผลิตส้มสายน้ำผึ้งของจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก จะอยู่ภายใต้กลไกการทำงานของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตร ระดับจังหวัด (คพจ.) เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาผลไม้ และป้องกันไม่ให้เกษตรกรถูกกดราคา การเตรียมแผนบริหารจัดการสินค้าและเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกจังหวัด อาทิ การจำหน่ายส้มสายน้ำผึ้งเพื่อบริโภคสดในประเทศ โดยมุ่งเน้นกระจายออกนอกแหล่งผลิตผ่าน Modern Trade เครือข่ายสหกรณ์  วิสาหกิจชุมชน และการส่งเสริมให้เกษตรกรขายผ่านช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการขับเคลื่อนผ่านโครงการส่งเสริมการผลิตแบบแปลงใหญ่ ภายใต้นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเกษตรกรรวมกลุ่มแปลงใหญ่ จำนวน 1 แปลง คือ กลุ่มแปลงใหญ่ส้มสายน้ำผึ้ง ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง โดยมีนายคเณช หน่อราช เป็นประธานแปลง นับเป็นแปลงใหญ่ที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลผลิตการส่งเสริมเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม และเรื่องการตลาด รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้แปลงเพาะปลูกส้มสายน้ำผึ้งของเกษตรกรได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ซึ่งปัจจุบันมีแปลงที่ได้รับมาตรฐาน GAP จำนวน 80 แปลง รวมเนื้อที่ 3,827 ไร่ รวมถึงยังได้ผลักดันให้ส้มสายน้ำผึ้งเป็นสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา คาดว่าจะได้รับ GI ประมาณเดือนธันวาคม 2566

“ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้ว ขอเชิญชวนผู้บริโภคทุกท่านร่วมสนับสนุนผลผลิตส้มสายน้ำผึ้งของเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ที่มีเอกลักษณ์กว่าส้มที่อื่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ผิวส้มสีทอง เปลือกบางปอกง่าย จะบริโภคเองหรือซื้อเป็นของฝากก็ถูกใจผู้รับอย่างแน่นอน และที่สำคัญยังเป็นการสร้างกำลังใจแก่พี่น้องเกษตรกรให้ผลิตส้มสายน้ำผึ้งที่มีคุณภาพต่อไป หากท่านที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตส้มสายน้ำผึ้งของจังหวัดเชียงใหม่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.1 โทร 0 5312 1318 หรืออีเมล์ [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวทิ้งท้าย    

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว