กสก. ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มผลิตต่อไร่ ได้มาตรฐาน

208

กรมส่งเสริมการเกษตรจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลิตต่อไร่ ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปัจจุบันการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยยังไม่เพียงพอกับความต้องการ กล่าวคือ สามารถผลิตได้เพียงปีละ 4-5 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 8 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวตามปริมาณการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี รัฐบาลจึงมีแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาในฤดูแล้งให้มากขึ้น เพื่อกระจายผลผลิตที่เคยออกสู่ตลาดมากในฤดูฝนให้เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งนอกจากจะแก้ไขปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรลดพื้นที่ทำนาปรังลงและหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน สำหรับในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จังหวัดอุบลราชธานีถือได้ว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ เนื่องจากมีตลาดรับซื้ออยู่ในพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานีจึงได้จัดงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567 ขึ้น ร่วมกับงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สู่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยวสัตว์ทั่วไป นำไปปฏิบัติเพื่อการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น การผลิตให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด และสามารถเชื่อมโยงการตลาดได้ ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ณ แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หมู่ 6 ตำบลสมสะอาด อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี มีเกษตรกรมาร่วมงานกว่า 400 คน

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

“ข้อแนะนำสำหรับเกษตรกรนำกลับไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ 1) ด้านการลดต้นทุนการผลิต เช่น การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ตลอดจนการใช้ชีวภัณฑ์ เช่น การใช้เชื้อราไตรโครเดอร์ม่า หรือบิวเวอร์เรีย ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมีที่มีราคาแพงกว่า 2) ด้านการเพิ่มผลผลิต เช่น การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน (PGPR1) การใช้ปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของพืช 3) ด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ควรเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในระยะแก่เต็มที่ และหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้ว ขอให้เกษตรกรตากข้าวโพดเพื่อลดความชื้นลงให้เหลือความชื้นประมาณ 14-15% เพื่อให้ได้ราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการนำต้นข้าวโพดมาทำเป็นปุ๋ยหมักหรืออาหารสัตว์ แทนการเผาเศษวัสดุข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดมลภาวะทางอากาศ ลดฝุ่นละออง PM 2.5
4) ด้านการบริหารจัดการกลุ่มให้รวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะได้มีอำนาจต่อรองไม่ว่าด้านปัจจัยการผลิต หรือด้านการตลาด เป็นต้น และ 5) ด้านการเพิ่มช่องทางการตลาด ให้มีการทำ MOU กับบริษัทที่ทำการรับซื้อ มีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ เพื่อหาแนวทางและมาตรฐานในการผลิตและรับซื้อร่วมกัน” รองอธิบดี
กรมส่งเสริมการเกษตร
กล่าว

นายถิรพุทธิ์  คานทอง เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดอุบลราชธานี มีแปลงใหญ่ทั้งหมด 409 แปลง เป็นแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 26 แปลง เกษตรกร 1,150 ครัวเรือน พื้นที่ 12,783 ไร่ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ที่เกษตรกรให้ความสนใจปลูกเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปีที่ผ่านมามีเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จำนวน 6,833 ครัวเรือน พื้นที่ 65,446 ไร่ อำเภอที่มีเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาจำนวนมาก ได้แก่ อำเภอเดชอุดม อำเภอวารินชำราบ อำเภอสำโรง อำเภอม่วงสามสิบ และอำเภอนาเยีย ซึ่งสาเหตุที่เกษตรกรให้ความสนใจในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีแหล่งรับซื้อผลผลิต ซึ่งมีความต้องการใช้เมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่า 100,000 ตันต่อปี โดยรับซื้อในราคาตลาด และประกันราคารับซื้อผลผลิตกิโลกรัมละ 8.50 บาท ที่ความชื้น 14.5 %  นอกจากนี้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนายังให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,000 ถึง 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทนต่อไร่ ประมาณ 8,000-12,000 บาท และ เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ประมาณ 720 – 800 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ สามารถปลูกได้ทั่วไป โดยใช้น้ำบาดาล หรือแหล่งน้ำอื่น ๆ

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว