เกษตรกรรวมกลุ่มแปรรูปเพิ่มค่าข้าวภายใต้แบรนด์ “กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง” เพิ่มรายได้สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี
ไม่ใช่เรื่องง่ายการก้าวย่างสู่ความสำเร็จในวันนี้สำหรับ “สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด” แห่งบ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่นจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ที่ผลิตข้าวพื้นเมืองและข้าวหอมมะลิ105 บรรจุถุงภายใต้แบรนด์ “กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง” เลิง ภาษาอีสานหมายถึงที่ราบลุ่ม ส่วน ฮัง คือต้นรัง เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึงที่ราบเต็มไปด้วยต้นรัง จึงเป็นที่มาชื่อเดิมของหมู่บ้านชื่อบ้านน้อยเลิงฮัง ก่อนมาเปลื่อนชื่อเป็นบ้านโคกสะอาดในเวลาต่อมาตามภาษาเรียกของทางราชการ
“การตั้งชื่อสหกรณ์ ชาวบ้านอยากใช้ชื่อเดิมของหมู่บ้านเพื่อย้อนรำลึกถึงอดีตที่มีความสัมพันธ์ ผูกพันกันมีความสามัคคีกัน จึงนำมาใช้เป็นชื่อของสหกรณ์” นายดาวิทย์ พุทธิไสย เลขานุการคณะกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด ย้อนอดีตที่มาของชื่อสหกรณ์ฯ ที่คณะกรรมการและสมาชิกทุกคนเห็นพ้องต้องกันในการใช้ชื่อจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ฯ
กว่า 40 ปีแล้วที่สหกรณ์แห่งนี้เริ่มจัดตั้งขึ้นจากผู้ก่อการโดยนักเรียนจำนวน 17 คน และครู 1 คน ปัจจุบันกลุ่มผู้ก่อตั้งทั้ง 18 คน ยังดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการสหกรณ์ฯอยู่ในชุดปัจจุบัน สร้างผลงานเด่นจนได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย อาทิ รางวัลสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่นรองอันดับ 1 ระดับจังหวัด ประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เนื่องในงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2564 หรือรางวัลโครงการประกวดผลงานขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ประจำปี 2560 เป็นต้น
นายดาวิทย์ เผยต่อว่านับตั้งแต่เริ่มจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ด้วยเงินทุนก้อนแรก 3,500 บาท จากการซื้อหุ้นของกรรมการและสมาชิก จากนั้นก็ได้ดำเนินกิจการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันและเพิ่งฉลองครบ 41 ปีของการก่อตั้งไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวนกว่า 6,000 รายครอบคลุมพื้นที่ 20 หมู่บ้าน และวันนี้มีเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้นกว่า 120 ล้านบาท
“สิ่งที่เราภูมิใจคือเราไม่ได้ใช้เงินทุนจากข้างนอกเลย ไม่ได้ไปกู้เงินจากใครที่ไหนใช้เงินทุนภายในของเราเองทั้งหมด เพราะเรามีจุดยินที่ว่าพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง ร.9 ในการดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน” เลขานุการสหกรณ์ฯ คนเดิมเผย
เขายอมรับว่าปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมา สิ่งที่เราเจอมากที่สุดก็คือการขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการบัญชี จึงได้พยายามเรียนรู้จากการไปศึกษาดูงามตามสหกรณ์ต่าง ๆ และนำมาปรับใช้กับสหกรณ์ฯของเราเอง และโชคดี ที่มีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดสกลนคร และที่สำคัญชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย คอยให้คำแนะนำเป็นพี่เลี้ยงให้เราตลอดมา นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้เราก้าวหน้ามาจนวันนี้ได้ก็เป็นเรื่องเบญคุณธรรมเครดิตยูเนี่ยน ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นใจและไว้วางใจกัน ทำให้สามารถขับเคลื่อนสหกรณ์มาจนถึงวันนี้
“วันนี้มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ที่ 120 ล้านบาท มีสำนักงานเป็นของตัวเองและที่ยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือการถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนากระบวนการข้าว สมาชิกสหกรณ์กว่า 90% มีอาชีพทำนาอาศัยน้ำฝน ทำได้ปีละครั้ง แต่ที่เราอยู่ได้ เพราะเรานำผลผลิตข้าวที่ได้มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างหลากหลายภายใต้แบรนด์ “กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง” นายดาวิทย์ระบุ
ปัจจุบันสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวหลายชนิด นอกจากข้าวหอมบรรจุถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม สนนราคา 120 บาท มีทั้งข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวหอมนิล ข้าวหอมแดง ตลอดจนข้าวหอมพื้นเมืองสายพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า 300 สายพันธุ์ แล้วยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว อาทิ สบู่ข้าว น้ำมันรำข้าว ครีมบำรุงผิว
“การทำนาปลูกข้าวพื้นเมืองหอมดอกฮังของสมาชิกสหกรณ์ เราจะทำนาแบบประณีตดั้งเดิมอินทรีย์ 100% แล้วก็ยังร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสกลนคร มาทำการวิจัยสารอาหารจากข้าวแต่ละชนิดเพื่อให้เหมาะกับผู้บริโภค เช่น ข้าวเหนียวแดงเหมาะกับคนเป็นโรคเบาหวาน ข้าวฮับน้อยเหมาะกับผู้บริโภคที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง อย่างนี้เป็นต้น” เลขานุการสหกรณ์ฯคนเดิมกล่าว
ด้าน นางสาวยุพดี สารทอง สหกรณ์จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดสกลนครมีสหกรณ์ 89 แห่ง มีสมาชิกทั้งสิ้น 175,283 คน มีปริมาณธุรกิจรวมของสหกรณ์กว่า 37,967 ล้านบาท มีกลุ่มเกษตรกร 77 กลุ่ม มีสมาชิกทั้งสิ้น 6,135 คน ปริมาณธุรกิจรวมของกลุ่มเกษตรกรกว่า 241.75 ล้านบาท โดยเฉพาะสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด มีความโดดเด่นในเรื่องความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากสมาชิกสูงมาก สหกรณ์จึงไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องหนี้ เนื่องจากสมาชิกมีรายได้ สามารถส่งคืนได้ในเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นแล้วสหกรณ์แห่งนี้ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ดีแก่สมาชิก โดยมีทั้งการให้ความรู้ทางการเงินก่อนการเป็นสมาชิก การจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาทางการเงิน ตลอดจนการวางแผนการใช้จ่ายเงินของสมาชิกและการส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือน
“สหกรณ์เขาไม่มีปัญหาในเรื่องเงินไม่มีหนี้ค้างชำระ ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเองก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยให้คำปรึกษาแนะนำ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ตามที่เขาต้องการ ทั้งยังพาคณะกรรมการไปศึกษาดูงานนอกสถานที่เพื่อจะนำองค์ความรู้มาปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานของสหกรณ์” สหกรณ์จังหวัดสกลนคร กล่าวย้ำ
อย่างไรก็ตามจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้สหกรณ์ฯ ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย อาทิ รางวัลสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่นรองอันดับ 1 ระดับจังหวัด ประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เนื่องในงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2564 รางวัลสหกรณ์ดีเด่นระดับจังหวัด ประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 รางวัลการบริหารจัดการที่ดี (CUQA) และมีการบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล ประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต้นแบบ ประจำปี 2560 โดยชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แห่งประเทศไทย จำกัด รางวัลการถือหุ้นสะสมต่อเนื่องกับชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต้นแบบ ประจำปี 2560 โดยชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด รางวัล TOP TEN ปริมาณธุรกิจ ประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ประจำปีบัญชี 2559 จัดโดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 5 และรางวัลโครงการประกวดผลงานขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ประจำปี 2560 อีกด้วย
กรมส่งเสริมสหกรณ์