ปีนี้ ไม้ผลตะวันออก ‘ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง’ ผลผลิตรวม 1.11 ล้านตัน ออกตลาดชุก พฤษภาคม นี้
นางสาวนริศรา เอี่ยมคุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสรุปการจัดทำข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2567 (ข้อมูล ณ 4 เมษายน 2567) โดย สศท.6 และศูนย์สารสนเทศการเกษตร สศก. ประชุมร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคตะวันออก ติดตามสถานการณ์การออกดอกติดผลของไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด) สรุปปี 2567 ปริมาณผลผลิตรวม ทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1,114,070 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 1,046,254 ตัน (เพิ่มขึ้น 67,816 ตัน หรือร้อยละ 6.48) โดย มังคุด เพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 42 รองลงมา เงาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ลองกอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และทุเรียน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1 ซึ่งผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้มีความเหมาะสมต่อการออกดอกและติดผลของมังคุด เงาะ ลองกอง จากการได้พักต้นสะสมอาหาร ซึ่งปีที่ผ่านมาออกดอกติดผลน้อย ส่วนทุเรียนผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากอัตราเนื้อที่ให้ผลทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการลดลงของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ซึ่งเนื้อที่เริ่มให้ผลผลิตในปี 2567 ได้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้นกว่า 38,000 ไร่ ทั้งนี้ ผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด จะออกมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2567 คิดเป็นร้อยละ 51 ของผลผลิตทั้งหมด
สำหรับไม้ผลรวมทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ปี 2567 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 950,614 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 910,872 ไร่ (เพิ่มขึ้น 39,742 ไร่ หรือร้อยละ 4.36) เนื้อที่ให้ผลรวม 680,949 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 656,626 ไร่ (เพิ่มขึ้น 24,323 ไร่ หรือร้อยละ 3.70) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,636 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,593 กิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 43 กิโลกรัม หรือร้อยละ 2.70) มีปริมาณผลผลิตรวม 1,114,070 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 1,046,254 ตัน (เพิ่มขึ้น 67,816 ตัน คิดเป็นร้อยละ 6.48) เนื่องจากในปีที่ผ่านมาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผลของไม้ผล จึงได้พักต้นสะสมอาหาร ทำให้ปีนี้ออกดอกติดผลเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมาเริ่มให้ผลผลิตเป็นปีแรกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในทั้ง 3 จังหวัด ทำให้ภาพรวมผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ/อากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตปีนี้จะมีหลายรุ่น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตของไม้ผล 3 จังหวัดภาคตะวันออก รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว สำหรับการกระจายตัวของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน 2567 โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 คิดเป็นร้อยละ 51 ของผลผลิตทั้งหมด
เมื่อพิจารณารายสินค้า ทุเรียน เนื้อที่ยืนต้น 687,140 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 635,984 ไร่ (เพิ่มขึ้น 51,156 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.04) เนื้อที่ให้ผล 424,724 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 390,177 ไร่ (เพิ่มขึ้น 34,547 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.85) เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยปรับเปลี่ยนจากพืชอื่น เช่น ยางพารา มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่ว่างเปล่า มาปลูกทุเรียนทดแทน จากปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทนที่จูงใจต่อการลงทุน รวมทั้งความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีต้นทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมา เริ่มให้ผลผลิตในปี 2567 ได้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น จำนวน 38,849 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,843 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,991 กิโลกรัม (ลดลง 148 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 7.43) เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ได้้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์์เอลนีโญ ทำให้การออกดอกติดผลไม่เต็มต้น ได้น้ำหนักเฉลี่ยต่อลูกลดลง ประกอบกับมีต้นทุเรียนที่เริ่มให้ผลผลิต ปี 2567 เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น เมื่อคำนวณโดยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจึงทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง ผลผลิตรวม 782,874 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 776,914 ตัน (เพิ่มขึ้น 5,960 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.77) ภาพรวมปริมาณผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ตามอัตราการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ให้ผลมากกว่าอัตราการลดลงของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ทั้งนี้ สวนทุเรียนบางพื้นที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดแต่งจำนวนผลต่อต้นลดลง ความสมบูรณ์ของผลทุเรียน ขนาดและรูปทรง ระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตทุเรียน เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2567 โดยจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2567 คิดเป็นร้อยละ 53.20 ของผลผลิตทั้งหมด
มังคุด เนื้อที่ยืนต้น 172,099 ไร่ ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 178,518 ไร่ (ลดลง 6,419 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.60) เนื้อที่ให้ผล 167,519 ไร่ ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 174,217 ไร่ (ลดลง 6,698 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.84) เนื่องจากเกษตรกรโค่น สางต้นมังคุดที่เคยให้ผลผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนทดแทนและเพื่อให้สวนผสมมีช่องว่างระหว่างแถวและให้ต้นทุเรียนได้รับการสังเคราะห์แสงมากขึ้น อีกทั้งปัญหาแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต แรงงานหายาก และราคาผลผลิตผันผวน แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้ต้นสมบูรณ์มากขึ้น จากการได้พักต้นสะสมอาหารซึ่งปีที่ผ่านมามังคุดออกดอกติดผลน้อย ประกอบกับสภาพอากาศปีนี้มีความเหมาะสมต่อการออกดอกและติดผลของมังคุดผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,027 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 696 กิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 331 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 47.56) เนื่องจากปีนี้ต้นสมบูรณ์มากขึ้น จากการได้พักต้นสะสมอาหารซึ่งปีที่ผ่านมามังคุดออกดอกติดผลน้อย ประกอบกับสภาพอากาศปีนี้มีความเหมาะสมต่อการออกดอกและติดผลของมังคุด ผลผลิตรวม 172,077 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 121,168 ตัน (เพิ่มขึ้น 50,909 ตัน คิดเป็นร้อยละ 42.02) ภาพรวมปริมาณผลผลิตมังคุดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาตามอัตราการเพิ่มขึ้นของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มากกว่าอัตราการลดลงของเนื้อที่ให้ผล สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตมังคุดปีนี้จะมีหลายรุ่น ทยอยเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม 2567 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2567 คิดเป็นร้อยละ 41.79 ของผลผลิตทั้งหมด
เงาะ เนื้อที่ยืนต้น 78,950 ไร่ ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 82,777 ไร่ (ลดลง 3,827 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.62) เนื้อที่ให้ผล 76,313 ไร่ ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 78,699 ไร่ (ลดลง 2,386 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.03) เนื่องจากเกษตรกรโค่น สางต้นเงาะที่เคยให้ผลผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนทดแทนและเพื่อให้สวนผสมมีช่องว่างระหว่างแถวและให้ต้นทุเรียนได้รับการสังเคราะห์แสงมากขึ้น อีกทั้งปัญหาแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต แรงงานหายาก ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,988 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,791 กิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 197 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 11.00) เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้มีความเหมาะสมต่อการออกดอกดี โดยเฉพาะจังหวัดตราดซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลัก เงาะติดผลดี ผลผลิตรวม 151,679 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 140,921 ตัน (เพิ่มขึ้น 10,758 ตัน คิดเป็นร้อยละ 7.63) ภาพรวมปริมาณผลผลิตเงาะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ตามอัตราการเพิ่มขึ้นของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มากกว่าอัตราการลดลงของเนื้อที่ให้ผล โดยจังหวัดตราดซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลักมีปริมาณผลผลิตเงาะเพิ่มขึ้น มากกว่าจังหวัดจันทบุรีและระยองที่มีผลผลิตลดลงตามเนื้อที่ให้ผลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตเงาะ เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม 2567 โดยปกติเงาะสีทองของจังหวัดตราดจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ก่อนเงาะโรงเรียน 10 – 15 วัน แต่เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เงาะสีทองออกดอกล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เงาะสีทองออกสู่ตลาดใกล้เคียงกับเงาะโรงเรียน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2567 คิดเป็นร้อยละ 51.40 ของผลผลิตทั้งหมด
ลองกอง เนื้อที่ยืนต้น 12,425 ไร่ ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 13,593 ไร่ (ลดลง 1,168 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.59) เนื้อที่ให้ผล 12,393 ไร่ ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 13,533 ไร่ (ลดลง 1,140 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.42) เนื่องจากเกษตรกรสางต้นลองกองที่เคยให้ผลผลิตเพื่อให้สวนผสมมีช่องว่างระหว่างแถวและให้ต้นทุเรียนได้รับการสังเคราะห์แสงมากขึ้น โดยการปลูกลองกองแบบสวนเดี่ยวมีเหลือน้อย อีกทั้งตลาดต่างประเทศส่งออกได้น้อยลง ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 600 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 536 ไร่ (เพิ่มขึ้น 64 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 11.94) ผลผลิตรวม 7,440 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 7,251 ตัน (เพิ่มขึ้น 189 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2.61) ภาพรวมปริมาณผลผลิตลองกองเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ตามอัตราการเพิ่มขึ้นของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มากกว่าอัตราการลดลงของเนื้อที่ให้ผล โดยจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งผลิตลองกองหลักออกดอกติดผลดี มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่จังหวัดตราดและจังหวัดระยอง ปริมาณผลผลิตลดลงตามเนื้อที่ให้ผลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับการกระจายตัวของผลผลิต เริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนกันยายน 2567 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2567 คิดเป็นร้อยละ 33.77 ของผลผลิตทั้งหมด
ทั้งนี้ แนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ในปี 2567 ทั้ง 3 จังหวัด ได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน 4 สายพันธุ์ เพื่อสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ทุเรียน มกษ. 3-2556 ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร (กวก.) รวมทั้ง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั้ง 3 จังหวัด ได้มีแนวทางการบริหารจัดการตลาดผลไม้รองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สสก.3 ได้นำข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออกไปบริหารจัดการในการจัดตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ทั้งปริมาณการออกสู่ตลาดและราคาขายรายวัน โดยเริ่มรายงานตั้งแต่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป หากท่านใดที่สนใจข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 โทร 0 3835 2435 หรืออีเมล [email protected]
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร