ฟิล์มแคร์รอต นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์กินได้ลดปัญหาขยะพลาสติก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กรมวิชาการเกษตร ปั๊มนวัตกรรมฟิล์มห่ออาหารรับประทานได้ วิจัยพบแคร์รอตมีคุณสมบัติครบตอบโจทย์บรรจุภัณฑ์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปิ๊งไอเดียผลิตเป็นฟิล์มห่อลูกอมและผลไม้กวน ประโยชน์หลายเด้ง ทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตร ลดปัญหาขยะพลาสติก พร้อมตอบเทรนด์สุขภาพฟิล์มแคร์รอต 1 แผ่นมีสารเบต้าแคโรทีนสูงกว่า 3,000 ไมโครกรัม
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ห่อหุ้มอาหาร เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ ต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาอาหาร โดยบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ห่อหุ้มจะช่วยปกป้องไม่ให้อาหารปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร และป้องกันการเสื่อมเสียจากจุลินทรีย์และเคมี อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจส่วนแบ่งตลาดของวัสดุที่นำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มอาหารพบว่าส่วนใหญ่เป็นพลาสติกสังเคราะห์ ซึ่งย่อยสลายได้ยากกลายเป็นขยะที่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก
จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดการวิจัยหาวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับห่อหุ้มอาหาร โดยกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการคัดเลือกวัตถุดิบซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ กะหล่ำปลีสีม่วง มะเขือเทศ มะม่วง และแคร์รอต โดยนำมาทดลองเพื่อค้นหาคุณสมบัติของผักและผลไม้ดังกล่าวที่มีลักษณะปรากฏใกล้เคียงกับฟิล์มห่อหุ้มอาหารปกติมากที่สุด และสามารถพัฒนาผลิตเป็นแผ่นฟิล์มสำหรับห่อหุ้มอาหารที่รับประทานได้ด้วย ซึ่งผลจากการทดลองพบว่าแคร์รอตเป็นพืชที่มีลักษณะปรากฏเหมาะสมที่สุดต่อการนำมาวิจัยต่อยอดเป็นฟิล์มที่สามารถบริโภคได้
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาฟิล์มบริโภคได้จากผักและผลไม้ โดยการทดลองแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การคัดเลือกวัตถุดิบ และการปรับปรุงคุณสมบัติของฟิล์ม สำหรับการคัดเลือกวัตถุดิบได้คัดเลือกผักและผลไม้กลุ่มที่มีองค์ประกอบของ สารกลุ่มพอลิแซคคาร์ไรด์ ได้แก่ เพคติน เซลลูโลส และสตาร์ชสูง นำมาให้ความร้อนและตีป่นจนเป็นเนื้อละเอียดในรูปพิวเร่ (Puree) ก่อนขึ้นรูปเป็นฟิล์ม ซึ่งพบว่าแคร์รอตที่ความเข้มข้น 30% โดยน้ำหนักให้ฟิล์มที่มีลักษณะดีที่สุด คือ แห้งและไม่กรอบเปราะจึงคัดเลือกแคร์รอตเป็นวัตถุดิบในการวิจัยครั้งนี้
หลังจากนั้นนำฟิล์มจากแคร์รอตที่ได้จากส่วนแรกมาปรับปรุงคุณสมบัติโดยแบ่งการทดลองออกเป็น 2 ส่วนย่อย คือ ส่วนของการปรับปรุงความแข็งแรงของฟิล์มด้วยเพคติน (pectin) และแอลจิเนต (alginate) เลือกสูตรที่ดีที่สุดมาปรับปรุงการยืดตัวโดยการเติมไซลิทอล ซึ่งพบว่าการเติมแอลจิเนต 3% ของน้ำหนักเนื้อแคร์รอต และไซลิทอล (xylitol) 3.75% ของน้ำหนักเนื้อแคร์รอตให้ฟิล์มที่มีคุณสมบัติดีที่สุด โดยแอลจิเนตมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับฟิล์ม ทำให้มีความเหนียวไม่ขาดง่าย ส่วนไซลิทอลเป็นสารให้ความหวานใช้แทนน้ำตาลใส่เติมลงไปเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับฟิล์ม โดยฟิล์มจากแคร์รอตที่พัฒนาขึ้นนี้มีความต้านทานการซึมผ่านก๊าซออกซิเจนอยู่ในระดับที่ดีจึงนำมาประยุกต์เป็นฟิล์มห่อผลิตภัณฑ์เช่น ลูกอม และผลไม้กวน นอกจากนี้ ฟิล์มแคร์รอตยังมีคุณค่าทางทางโภชนาการและช่วยต้านการเสื่อมคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากปฏิกิริยาออกซิเดชัน เนื่องจากฟิล์มแคร์รอต 1 แผ่นมีปริมาณสารเบต้าแคโรทีนสูงถึง 3,465 ไมโครกรัม โดยฟิล์มแคร์รอตนี้มีอายุการใช้งานได้นานประมาณ 2 เดือน
“งานวิจัยนี้มีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดของนักวิจัยที่ต้องการจะผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ห่อหุ้มอาหารที่ทำมาจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งย่อยสลายได้ยากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสภาวะโลกร้อน ที่สำคัญงานวิจัยนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตร ทำให้เกิดการใช้ผลิตผลทางด้านการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ฟิล์มห่อหุ้มอาหารที่ทำจากแคร์รอตยังมีส่วนช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการเป็นการตอบ เทรนด์ด้านสุขภาพได้อีกด้วย ซึ่งคณะผู้วิจัยเตรียมที่จะนำผลงานวิจัยฟิล์มแคร์รอตบรรจุภัณฑ์รับประทานได้ไปจดอนุสิทธิบัตรแล้ว ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร 02-9405468” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
กรมวิชาการเกษตร ข่าว