เกษตรฯ มั่นใจทุเรียนตะวันออกปีนี้ คุณภาพได้มาตรฐาน

390

มั่นใจทุเรียนตะวันออกปีนี้ คุณภาพได้มาตรฐาน ผลตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งดีเตรียม พร้อมรับเทศกาลทุเรียน ย้ำ ออกก่อนอ่อนไม่มี

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ติดตามร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีติดตามการดำเนินงานตามมาตรการ “ตรวจก่อนตัด” เพื่อป้องกันทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ซึ่งจังหวัดในภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดตราดได้แต่งตั้งคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจก่อนตัด (ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนตัด) ในฤดูกาลผลิต ปี 2566/67 เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้มีทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด โดยกำหนดระดับความอ่อนแก่ของทุเรียน ด้วยวิธีการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน สอดคล้องตามค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 3-2556 ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนขั้นต่ำสำหรับการบริโภคในแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้ 1) พันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง 2) พันธุ์ชะนี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง 3) พันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง และ 4) พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง หากเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนอ่อน เน้นกำชับแนวคิด “ออกก่อนอ่อนไม่มี” รวมทั้งกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2567 ดังนี้ 1) พันธุ์กระดุม วันที่ 15 เมษายน 2567 2) พันธุ์ชะนี และพวงมณี วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 และ 3) พันธุ์หมอนทอง วันที่ 20 พฤษภาคม 2567

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลการตรวจก่อนตัด ณ จุดดำเนินการ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2567) พบว่า มีจำนวนตัวอย่างส่งตรวจ รวม 8,428 ตัวอย่าง แบ่งเป็นจังหวัดจันทบุรี มี 13 จุดบริการ จำนวน 4,697 ตัวอย่าง ตรวจผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 78.26 จังหวัดตราด มี 7 จุดบริการ จำนวน 2,460 ตัวอย่าง ตรวจผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 70.12 และจังหวัดระยอง มี 8 จุดบริการ จำนวน 1,267 ตัวอย่าง ตรวจผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 76.5 โดยตัวอย่างที่จะผ่านการตรวจได้ต้องมีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนเท่ากับ หรือมากกว่าเกณฑ์ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรทุเรียน (มกษ. 3-2556) ตามที่กำหนดข้างต้น หากไม่ผ่านเกณฑ์ให้นำตัวอย่างมาตรวจซ้ำใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงต้นฤดูกาลผลิตนี้ ทุกจังหวัดมีทุเรียนผ่านมาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งสูงถึงร้อยละ 70 ขึ้นไป ทำให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีที่เกษตรกร และมือตัดทุเรียนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปฏิบัติตามมาตรการที่ทุกจังหวัดกำหนด ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในคุณภาพของทุเรียนภาคตะวันออกอีกด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขอความร่วมมือเกษตรกรและมือตัดทุเรียน เก็บตัวอย่างทุเรียนที่ไม่มีร่องรอยการเปิดกรีด จำนวน 1 ผล นำมาตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน ณ จุดบริการตรวจก่อนตัดที่กำหนดไว้ก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 3 วัน และตัวอย่างที่ผ่านเกณฑ์ เจ้าหน้าที่จะออกหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของทุเรียนตัวอย่างที่ส่งตรวจให้เกษตรกรผู้ส่งตรวจ ซึ่งมีเลขที่รหัสการรับรองมาตรฐาน และรหัสแปลง GAP ระบุในเอกสาร พร้อมทั้งแนบสำเนาเอกสารการรับรอง GAP ที่ซึ่งระบุรายละเอียดการจำหน่ายให้แก่ผู้รวบรวมรับซื้อ อันเป็นการป้องกันการสวมสิทธิ์และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และหากไม่ผ่านเกณฑ์ให้นำตัวอย่างมาตรวจซ้ำใหม่อีกครั้ง ด้านผู้ประกอบการ/โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ขอความร่วมมือสื่อสารกับเกษตรกรและมือตัดทุเรียนให้ปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัดอย่างเคร่งครัด และทุกครั้งที่รับซื้อทุเรียนจากเกษตรกร หรือมือตัด ต้องขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนทุกครั้ง ส่วนแผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่ง ต้องขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนจากผู้ที่นำทุเรียนมาขาย เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ที่มาตรวจแผงรับซื้อ

กรมส่งเสริมการเกษตร