ศจช. ตะกุกใต้ ต้นแบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน

2,511

ศจช.ตำบลตะกุกใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ต้นแบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ส่งเสริมเกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์และศัตรูธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนการผลิตในแปลง

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ช่วงปี 2559 เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเริ่มหันมานิยมปลูกทุเรียนกันมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตจำหน่ายได้ราคาดีแต่กลับพบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่ำ มีการใช้สารเคมีปริมาณมากในการดูแลรักษาต้นทุเรียนที่ปลูก กรมส่งเสริมการเกษตร โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด สุราษฎร์ธานีจึงได้เข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในเรื่องของการปลูก การดูแลรักษาทุเรียนด้วยการลดใช้สารเคมี เน้นการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้น และกลุ่มมีมติให้ทุเรียนเป็นพืชหลัก เพื่อเฝ้าระวังและติดตามการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้านการจัดการทรัพยากรทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา

“กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาสนับสนุนทั้งงบประมาณ ปัจจัยการผลิต การฝึกอบรม ตลอดจนการตลาดให้กับทาง ศจช.ตำบลตะกุกใต้ โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้านการจัดการศัตรูพืชในโครงการระบบจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ทำให้ ศจช.ตำบลตะกุกใต้ แห่งนี้กลายเป็นจุดศึกษาดูงาน และได้รับการสนับสนุนกล้องจุลทรรศน์ Compound Microscope และ Stereo Microscope จากโครงการฯ เพื่อใช้ในการดำเนินงานของ ศจช.ตำบลตะกุกใต้ ในการวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืชรวมทั้งเรียนรู้แมลงศัตรูธรรมชาติที่มีในพื้นที่อีกด้วย” นายวุฒิศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานด้วยวิธีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยใช้ประโยชน์จากชีวภัณฑ์ในการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่พื้นที่ผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อระบบส่งเสริมการเกษตรของประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้าโขง ที่จะบรรลุผลสำเร็จในการส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่าทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในโครงการระบบ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ และแนวทางปฏิบัติที่ดี ผ่านการศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรม สำหรับเจ้าหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจากประเทศสมาชิกลุ่มน้าโขง รวมถึงการสร้างศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนในประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้าโขง

ปัจจุบันศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งภายใต้การนำของนายธีระวัฒน์ สงเกื้อ ประธานศูนย์ฯ การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนดีเด่นระดับเขต ปี 2562 และ ปี2565 ให้บริการศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชนผลิตและขยายชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตาไรเซียม และผลิตและขยายแมลงศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงหางหนีบ มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต และไส้เดือนฝอยสไตเนอร์นีม่า รวมทั้งมีแปลงเรียนรู้การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) ในพืชทุเรียน สำหรับเป็นแหล่งศึกษาดูงานแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปด้วย

            นายธีระวัฒน์ สงเกื้อ ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ กล่าวว่า ในอนาคต ศจช.ตำบลตะกุกใต้ มีแผนที่จะพัฒนาถ่ายทอดความรู้การใช้กล้องจุลทรรศน์ Compound Microscope และ Stereo Microscope รวบรวมข้อมูลภาพของโรค แมลงศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติที่มีในพื้นที่ พัฒนาชีวภัณฑ์ให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน โดยการตรวจนับปริมาณสปอร์และอัตราการงอกของสปอร์ 3 ชนิด ได้แก่ ไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย  และเมตาไรเซียม พร้อมทั้งตรวจการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อื่น และพัฒนา ศจช.ตำบลตะกุกใต้ ให้เป็นศูนย์บริการตรวจสอบคุณภาพชีวภัณฑ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตลอดจนขยายผลเพื่อส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน โดยการใช้ชีวภัณฑ์ลดต้นทุนการผลิตของแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลตะกุกใต้ผ่านกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ทั้งการจัดกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรทุกเดือนตลอดฤดูกาลผลิต ปี 2567 และจัดทำปฏิทินการผลิตพืชทุเรียนของตำบลตะกุกใต้จนจบฤดูกาลผลิต ปี 2567

กรมส่งเสริมการเกษตร