กะปิกุ้งแท้เกาะลันตา พร้อมส่งสินค้าคุณภาพดีสู่ผู้บริโภค

2,026

วิสาหกิจชุมชนกะปิกุ้งแท้เกาะลันตาเข้มแข็ง ผลิตสินค้าจากภูมิปัญญา ต่อยอดสู่ผู้ประกอบการเกษตร เปิดช่องทางจำหน่ายหลากหลาย พร้อมส่งมอบสินค้าคุณภาพดีสู่ผู้บริโภค

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกะปิกุ้งแท้เกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพและรสชาติของผลิตภัณฑ์แปรรูปกะปิกุ้งแท้เกาะลันตา นำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นมาพัฒนาต่อยอดสูตรจนได้สูตรมาตรฐาน ใช้วัตถุดิบกุ้งเคยแท้ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ผสมผสานกับวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทันสมัย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง สะอาด ถูกสุขลักษณะ จนได้รับเครื่องหมาย อย. (เลขที่ 81-2-01455-2-0001) การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และเครื่องหมายฮาลาล นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีการพัฒนาไลน์สินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่กับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้แก่ ซอสกะปิ และน้ำปลาหวาน เพื่อเพิ่มรายได้ และด้วยคุณภาพของกะปิที่โดดเด่น จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP ของเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีผลการประเมินศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน 7 ด้าน โดยรวมอยู่ในระดับดี และมีผลการประเมินความสามารถในการดำเนินธุรกิจโดยรวมอยู่ในระดับ A นั่นคือ กิจการมีสภาพคล่องทางการเงินสูง มีความสามารถในการสร้างรายได้มากกว่า 1 เท่าของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ การใช้สินทรัพย์ให้เกิดผลตอบแทนมีประสิทธิภาพ และกิจการมีความสามารถสูงในการทำกำไรจากยอดขายอยู่ในระดับที่ดี (อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร 44.333 %)

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกะปิกุ้งแท้เกาะลันตา ดำเนินการแปรรูปกุ้งเคยเป็นกะปิกุ้งแท้เกาะลันตา โดยเริ่มต้นจากการจำหน่ายในพื้นที่ และได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการเสริมสร้าง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้นเพื่อสร้างการยอมรับ และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ซึ่งผู้บริโภคมีแนวโน้มต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มมีกำลังในการผลิตเฉลี่ย 6 ตันต่อเดือนเพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค มีกำลังการผลิต 5,000 – 10,000 กระปุกต่อเดือน ซึ่งผลิตภัณฑ์ 1 ตัน จะแบ่งบรรจุได้ 2,000 กระปุก จำหน่ายกระปุกละ 55 บาท สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเป็นเงิน 250,000 – 300,000 บาทต่อเดือน มีต้นทุนในการผลิตต่อกะปิ 1 ตัน อยู่ที่ 77,000 บาท แบ่งออกเป็นต้นทุนวัตถุดิบ 45,000 บาท ต้นทุนแรงงาน 30,000 บาท และต้นทุนในการผลิต 2,000 บาท มีกำไรสุทธิ 1,410,362 บาท ในปี 2565 และ 1,188,559 บาท ในปี 2566 ปัจจุบันได้มีการขยายตลาดและกระจายสินค้าออกสู่ตลาดหลากหลายช่องทาง ทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอเกาะลันตา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ผลักดันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเข้าสู่ช่องทางเว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่กลุ่มอีกช่องทางหนึ่ง

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กลุ่มเกษตรกรดังกล่าว เริ่มต้นจากการที่เจ้าหน้าที่เคหกิจเกษตร สำนักงานอำเภอเกาะลันตา ได้เข้ามาทำการส่งเสริมการรวมกลุ่ม และดำเนินการจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ในนามว่า “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งหยีเพ็งร่วมใจ” ในปี 2540 ต่อมาในปี 2548 ทางกลุ่มได้ดำเนินการขอจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งใช้ชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกะปิกุ้งแท้เกาะลันตา” ได้รับอนุมัติจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2448 ที่ตั้งอยู่เลขที่ 125 หมู่ที่ 4 ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยมีนางห่าลี่หย้ะ สายนุ้ย เป็นประธาน มีสมาชิกเริ่มแรก 18 คน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 53 คน เพื่อผลิตกะปิและกุ้งแท้ตามแบบออร์แกนิก เพื่อสร้างรายได้และเสริมสร้างชุมชนในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตกะปิกุ้งแท้หนึ่งเดียวในภาคใต้ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง เป็นใบเบิกทางที่หนุนนำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพซึ่งมาพร้อมกับความอร่อยที่ผ่านการรับรอง และได้รับรางวัลที่ 3 ในการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรดีเด่น ประเภทกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2558 สำหรับผู้สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กะปิกุ้งแท้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ สามารถติดต่อโดยตรงได้ทาง 065-4020892, 065-4020892 และผ่านทางเว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com            

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีภารกิจในการส่งเสริมการพัฒนากลุ่มเกษตรกรไปสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งจำนวนหนึ่งอยู่ในระดับที่ไม่พร้อมจะเข้ามาแข่งขันทางการค้า ให้ได้รับการส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างรายได้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพัฒนาความสามารถในการจัดการ และพัฒนารูปแบบของวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการของหน่วยธุรกิจที่สูงขึ้น

กรมส่งเสริมการเกษตร