ส่องทิศทาง 4 เดือนแรก ปี 67 ส่งออกสินค้าเกษตรไทย

2,239

ส่องทิศทาง 4 เดือนแรก ปี 67 ส่งออกสินค้าเกษตรไทยขยายตัวสู่ตลาดโลก ไทยเกินดุลแล้วกว่า 3.4 แสนล้าน ภายใต้ความตกลง FTA

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก ปี 2567 ช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม – เมษายน 2567) พบว่า ไทยมีมูลค่าการค้ารวม 822,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.43 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการขยายตัวของมูลค่าการค้ารวมเป็นผลจากการขยายตัวของการส่งออก ซึ่งมีมูลค่า 584,561 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ พบว่า ไทยมีมูลค่านำเข้า 237,998 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.2 ส่งผลให้การค้าสินค้าเกษตรในภาพรวมของไทยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2567 เกินดุลการค้า 346,563 ล้านบาท

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เมื่อพิจารณาจากสถิติการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับโลก ในเดือนมกราคม-เมษายน 2567 พบว่า สินค้าเกษตรที่มูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ ข้าว (70,158 ล้านบาท) ทุเรียน (40,578 ล้านบาท) ยางธรรมชาติ (35,377 ล้านบาท) ไก่ปรุงแต่ง (32,809 ล้านบาท) และอาหารสุนัขหรือแมว (29,516 ล้านบาท)

สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญของไทยยังคงเป็นสินค้ากลุ่มเดิมเช่นเดียวกับปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้า
ที่นำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยสินค้าที่มีมูลค่านำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ ถั่วเหลือง (23,536 ล้านบาท) มันสำปะหลัง (16,339 ล้านบาท) กากน้ำมันถั่วเหลือง (14,450 ล้านบาท) ปลาสคิปแจ็คแช่แข็ง (12,192 ล้านบาท) และอาหารปรุงแต่ง (11,099 ล้านบาท)

ขณะที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสถิติการค้าสินค้าเกษตร ปี 2566) ได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรีกับไทยแล้ว ยกเว้นสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ทั้งนี้ แนวโน้มการค้าสินค้าเกษตรของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ในภาพรวมถือว่าค่อนข้างดี ทั้งอัตราเติบโตของการส่งออกไปโลก และการเกินดุลการค้าสินค้าเกษตรกับโลก ประกอบกับไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทุกประเทศข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจของโลก ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย สศก. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสในการขยายการค้าสินค้าเกษตรของไทยผ่านกลไกต่างๆ เช่น การผลักดันให้ประเทศคู่เจรจา FTA เปิดตลาดสินค้าเกษตรสำคัญของไทย และการผลักดันให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงระดับการเปิดตลาดภายใต้ FTA เดิมที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่

นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ด้านนางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการ สศก. กล่าวในรายละเอียดว่า หากพิจารณาในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีสถิติการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้าหลักข้างต้น ดังนี้ อาเซียน ไทยและอาเซียนมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 216,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.09 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 150,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.17 และการนำเข้า 66,345 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.70 โดยไทยได้ดุลการค้า 83,950 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว น้ำตาล น้ำ/น้ำอัดลม/น้ำแร่ เครื่องดื่มอื่นๆ และสตาร์ชจากมันสำปะหลัง และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เมล็ดกาแฟดิบ และสิ่งสกัดจากมอลต์

จีน ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 165,037 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.48 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 134,323 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.85 และการนำเข้า 30,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.13 โดยไทยได้ดุลการค้า 103,609 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ทุเรียน ยางพาราธรรมชาติ สตาร์ชจากมันสำปะหลัง น้ำเชื่อม และมันสำปะหลัง และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ แอปเปิล ปลาทูนาปรุงแต่ง (เช่น ปลาทูนากระป๋อง) ส้มแมนดาริน องุ่น และของปรุงแต่งที่ใช้เลี้ยงสัตว์

สหรัฐอเมริกา ไทยและสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 70,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.45 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 56,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.62 และการนำเข้า 13,934 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.20 โดยไทยได้ดุลการค้า 42,393 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารสุนัขหรือแมว ข้าว ปลาทูนาปรุงแต่ง (เช่น ปลาทูนากระป๋อง) ยางพาราธรรมชาติ และยาง TSNR และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ถั่วเหลือง อาหารปรุงแต่ง ข้าวสาลีและเมสลิน ของปรุงแต่งที่ใช้เลี้ยงสัตว์ และนมผงขาดมันเนย

ญี่ปุ่น ไทยและญี่ปุ่นมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 59,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.79 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 55,285 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.50 และการนำเข้า 4,535 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.43 โดยไทยได้ดุลการค้า 50,750 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ไก่ปรุงแต่ง เนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง อาหารสุนัขหรือแมว ยาง TSNR และปลาทูนาปรุงแต่ง (เช่น ปลาทูนากระป๋อง) และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ปลาซาร์ดีนแช่แข็ง สัตว์น้ำแช่แข็ง เนื้อโคแช่แข็ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส และอาหารปรุงแต่ง

ออสเตรเลีย ไทยและออสเตรเลียมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 22,886 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18.30 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 12,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.19 และการนำเข้า 10,852 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.25 โดยไทยได้ดุลการค้า 1,182 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ปลาทูนาปรุงแต่ง (เช่น ปลาทูนากระป๋อง) อาหารสุนัขหรือแมว ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ข้าว และอาหารปรุงแต่ง  และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าวสาลีและเมสลิน เนื้อโคแช่แข็ง/แช่เย็น ข้าวสาลีดูรัม มอลต์ และเนยแข็ง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร