สศก. เผยตัวเลขดัชนีความผาสุกของเกษตรกร

4,697

สศก. เผยตัวเลขดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ปี 66 อยู่ที่ระดับ 80.79 พัฒนาในระดับดี ด้านสุขอนามัยและด้านสังคม พัฒนาในระดับดีมาก ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการศึกษา ต้องปรับปรุงแก้ไข

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้จัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกร เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมทั้งใช้เป็นตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำหรับดัชนีความผาสุกของเกษตรกรระดับประเทศ ในปี 2566 มีค่าอยู่ที่ระดับ 80.79 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2565 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ระดับ 80.46 และเมื่อพิจารณาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค พบว่า ภาคใต้ มีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 82.29 รองลงมา คือ ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 81.22 ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 80.98 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 80.14 ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดี โดยรายละเอียดในแต่ละด้านมีดังนี้
ด้านสุขอนามัย ระดับประเทศมีค่าดัชนีอยู่ที่ 99.86 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ใกล้เคียงกับปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 99.85 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 99.91 รองลงมา คือ ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 99.88 ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 99.82 และภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 99.65 ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนเกษตรที่ดูแลเอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการขับเคลื่อนการเป็นเมืองสุขภาพดี เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี รวมทั้งส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) สินค้าเกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ด้านสังคม ระดับประเทศมีค่าดัชนีอยู่ที่ 92.83 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก เพิ่มขึ้นจาก ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 91.06 โดยภาคเหนือ มีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 94.37 รองลงมา คือ ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 93.46 ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 92.08 และภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 91.84 ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก เป็นผลจากการที่สมาชิกในครัวเรือนเกษตรมีการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครัวเรือน ขณะเดียวกันภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ด้านเศรษฐกิจ ระดับประเทศมีค่าดัชนีอยู่ที่ 76.97 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง ลดลงจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 78.26 โดยภาคใต้ มีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 84.88 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 78.21 และภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 77.35 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง และภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 67.03 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง โดยผลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรและแรงงานเกษตร พบว่าการมีสิทธิในที่ดินทำกินของเกษตรกรลดลง เนื่องจากปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องจำหน่ายที่ดินทำกินของตนเองบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ครัวเรือนเกษตรมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความเครียด ปัญหาทางด้านรายได้และภาระหนี้สิน

 ด้านสิ่งแวดล้อม ระดับประเทศมีค่าดัชนีอยู่ที่ 62.39 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ใกล้เคียงกับปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 62.67 โดยภาคเหนือ มีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 75.70 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา คือ ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 62.49 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 58.40 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 55.60 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากในปี 2566 มีพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับการฟื้นฟูทรัพยากรดินลดลงจาก ปี 2565 ขณะที่สัดส่วนพื้นที่ป่าต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศลดลงเช่นกัน เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงมีพื้นที่ป่าได้รับผลกระทบจากไฟป่าเพิ่มขึ้น

ด้านการศึกษา ระดับประเทศมีค่าดัชนีอยู่ที่ 52.20 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 50.39 แต่ยังคงอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากหัวหน้าครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ร้อยละ 48.42 เป็นผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ ทำให้การศึกษาของเกษตรกรในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ โดยภาคใต้ มีค่าดัชนีสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 59.07 รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 52.57 ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 52.31 และภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.51 ซึ่งค่าดัชนีของทุกภาคสะท้อนถึงการพัฒนาที่อยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข

ด้านนายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.79 เปรียบเทียบกับค่าดัชนีในช่วงปีสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับ โดยเริ่มจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554) ในปี 2554 มีค่าอยู่ที่ระดับ 76.97 แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ในปี 2559 มีค่าอยู่ที่ระดับ 80.51 และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) ในปี 2565 มีค่าอยู่ที่ระดับ 80.46 พบว่า ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลจากการพัฒนาในด้านสุขอนามัยและด้านสังคมเป็นหลัก ส่วนด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ มีแนวทางการพัฒนา ดังนี้

ด้านนายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

           ด้านการศึกษา ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะแก่เกษตรกรสูงวัยในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยจัดรูปแบบให้มีความเหมาะสมกับกิจกรรมทางการเกษตรแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านประสบการณ์ และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ระหว่างเกษตรกรสูงวัยกับเกษตรกรรุ่นใหม่ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และควรส่งเสริมให้สมาชิกของครัวเรือนเกษตรได้รับการศึกษาสูงขึ้น เพื่อยกระดับการทำเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

              ด้านสิ่งแวดล้อม ควรส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้เกษตรกรดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ การทำวนเกษตร ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero waste) งดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรในทุกภูมิภาคปรับปรุงบํารุงดินในพื้นที่การเกษตรอย่างต่อเนื่อง และเพาะปลูกพืชตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่
              ด้านเศรษฐกิจ ควรพัฒนาและส่งเสริมให้ครัวเรือนเกษตรยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งในเชิงคุณภาพ
และเชิงปริมาณ ควรจัดสรรที่ดินทำกินให้กับครัวเรือนเกษตรที่มีกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ และกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำบัญชีครัวเรือนตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถประเมินสถานภาพทางการเงินของตนเองได้ดีขึ้นทั้งด้านรายได้ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน และต้นทุนการผลิต เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลดัชนีความผาสุกของเกษตรกร สามารถสอบถามได้ที่ส่วนนโยบายและแผนพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 2816 ในวันและเวลาราชการ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร