ชุมชนบ้านใหม่หนองแกทัพหลวง ปลูกใบหม่อนเพิ่มมูลค่า

67

วิสาหกิจชุมชนบ้านใหม่หนองแกทัพหลวง ปลูกใบหม่อนเพิ่มมูลค่า พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนบ้านใหม่หนองแกทัพหลวง ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการปลูกใบหม่อนอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบหม่อนหลากหลายชนิดเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชน อาทิ ใบหม่อนสด และใบหม่อนแปรรูป ยกระดับมาตรฐานการผลิตส่งจำหน่ายตลาดต่างประเทศ

นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12)
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

จากการติดตามของ สศท.12 เพื่อศึกษากระบวนการการผลิตสินค้าใบหม่อนโดยมีการผลิตในรูปแบบอินทรีย์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในกลุ่ม โดยสัมภาษณ์ นางสาวไข่มุกข์ เลาหะกาญจนศิริ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านใหม่หนองแกทัพหลวง บอกเล่าว่า เดิมนั้นเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป หลังจากได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านเกษตรจากหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบกับความสนใจหารายได้เพิ่มเกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนมาปลูกใบหม่อนจนกลายเป็นอาชีพหลัก กลุ่มวิสาหกิจฯ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2566 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกใบหม่อนรวม 150 ไร่ มีสมาชิกเกษตรกร 14 ราย ปลูกเฉลี่ย 10 ไร่/ครัวเรือน โดยในปี 2567 กลุ่มวิสาหกิจฯ มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 12,000 บาท/ไร่/ปี ระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 6 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก 20 วัน ซึ่งต้นใบหม่อนมีอายุประมาณ 20 – 30 ปีได้ผลผลิตใบหม่อนสดรวม 1,220 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 8,136 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ สิงหาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาท/กิโลกรัม ส่งผลให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 81,360 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 69,360 บาท/ไร่/ปี ด้านสถานการณ์ตลาด พบว่า กลุ่มวิสาหกิจฯ รับซื้อใบหม่อนสดจากสมาชิก โดยการจำหน่ายผลผลิตแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบใบสด ซึ่งผลผลิตร้อยละ 80 จำหน่ายให้แก่ร้านอภัยภูเบศร กลุ่มผลิตสมุนไพร และร้านค้าสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ และผลผลิตอีกร้อยละ 20 แบบแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย อาทิ ใบชาหม่อนไหม สบู่ เครื่องสำอาง และเยลลี่หม่อน ซึ่งทั้งใบหม่อนสดและแปรรูปได้รับการตอบรับดีจากตลาด

ด้านผลสำเร็จที่ผ่านมากลุ่มวิสาหกิจฯ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมหม่อนไหม ซึ่งเป็นเครื่องการันตีเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล และได้รับรางวัลจากหน่วยงาน เช่น รางวัลชนะเลิศ โครงการ ออมสิน ยุวพัฒน์รักถิ่น (ผลิตภัณฑ์ที่ชนะเลิศ สครับโอบชีวา)  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดจะมีความต้องการสูง แต่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อน ยังมีจำนวนน้อย จึงเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมและขยายกิจกรรมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในอนาคต สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไปกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการปลูกเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคตทั้งในรูปแบบใบสดและแบบแปรรูป นอกจากนี้กลุ่มวิสาหกิจฯ ยังมีความต้องการด้านอุปกรณ์เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เช่น โรงอบใบหม่อน เครื่องสับใบหม่อน ในการสนับสนุนเกษตรกรให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิต เช่น เทคโนโลยีในการสับใบหม่อนให้มีความละเอียดมากขึ้น หรือเทคโนโลยีการอบแห้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้รองรับต่อความต้องการของตลาดที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีเป้าหมายที่จะจัดจำหน่ายไปยังต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยได้มีการเสนอโครงการไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอสนับสนุนเทคโนโลยี เครื่องมือดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่ม

ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนบ้านใหม่หนองแกทัพหลวงไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับสมาชิกในกลุ่ม โดยได้มีการให้ความรู้กับเกษตรกรในการพัฒนาสินค้าใบหม่อน หากท่านใดสวนใจข้อมูลสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวไข่มุกข์ เลาหะกาญจนศิริ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านใหม่หนองแกทัพหลวง ตำบลทัพหลวงทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โทร 080-0910780 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ สศท.12 นครสวรรค์ โทร 0 5680 3525 หรืออีเมล์ [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร