กยท. ยก ‘โครงการชะลอยาง’

66

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยก ‘โครงการชะลอยาง’ เป็นเครื่องมือสร้างเสถียรภาพราคายาง

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มั่นใจ “โครงการชะลอยาง” เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ชี้ สร้างเสถียรภาพราคายางระยะยาวได้จริง เดินหน้าสำรวจความพร้อมทุกด้าน หวังชาวสวนยางได้รับผลตอบแทนจากผลผลิตเพิ่มขึ้น

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่การการยางแห่งประเทศไทย

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่การการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเร่งดำเนินการโครงการชะลอยาง เนื่องจากสถานการณ์ราคายางในปัจจุบันยังคงมีความผันผวน บวกกับฤดูกาลที่ขณะนี้พื้นที่ภาคใต้เริ่มมีฝนตกชุก ดังนั้น การรวบรวมยางไว้จำหน่ายในช่วงที่ผลผลิตขาดตลาด จะช่วยให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น โดยคณะกรรมการ กยท. ได้อนุมัติงบประมาณโครงการชะลอยางเป็นเงินจำนวน 800 ล้านบาท  โดยจัดสรรเงินให้ กยท. ทั้ง 7 เขต และมอบหมายให้ กยท. ทุกพื้นที่ทั่วประเทศเร่งดำเนินการขับเคลื่อนโครงการชะลอยางอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย และยางแผ่นรมควัน โดยมีการวิเคราะห์และวัดผลแล้วว่า การดำเนินงานโครงการชะลอยางในปีงบประมาณ 2567 สามารถช่วยให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้จริง เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ย 6.10 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวม 248.17 ล้านบาท

รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้หารือร่วมกับผู้บริหาร กยท. ระดับเขตและจังหวัดทุกพื้นที่ ให้เร่งเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจกับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในการเข้าร่วมโครงการชะลอยาง ตลอดจนสำรวจความพร้อมของเครื่องมือที่ใช้ในโครงการฯ เพื่อยืดอายุและรักษาคุณภาพผลผลิตยางในโครงการฯ ได้แก่ ลานรวบรวมและโกดังจัดเก็บยางก้อนถ้วยที่เข้าร่วมโครงการ ห้องควบคุมความชื้นเพื่อรักษาคุณภาพยางแผ่นรมควันในโครงการชะลอยาง ตลอดจนความพร้อมของโรงงานแปรรูปยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ กยท. สนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อรวบรวมผลผลิตยาง โดยจะเข้ามารับซื้อผลผลิตยางจากสถาบันเกษตรกรฯ ที่เข้าร่วมโครงการชะลอยางในครั้งนี้ และรอการจำหน่ายในช่วงที่ราคายางมีความเหมาะสม และเกษตรกรชาวสวนยางพอใจ ทั้งนี้ หากมีเกษตรกรให้ความสนใจนำผลผลิตยางเข้าร่วมโครงการดังกล่าวมากขึ้น และจำเป็นต้องขยายวงเงินในการดำเนินโครงการ กยท. จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กยท. เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

“โครงการนี้ จะช่วยชะลอปริมาณผลผลิตยางออกสู่ตลาด ลดความผันผวนของราคายาง และสามารถช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีสภาพคล่องทางการเงิน ในระหว่างรอขายผลผลิตในช่วงที่ราคายางมีความเหมาะสม และเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ” ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

การการยางแห่งประเทศไทย