อัครา รมช.เกษตรฯ ขับเคลื่อนนโยบายความมั่นคงทางอาหาร เปิดจับปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน ตามแนวคิด จับ 1 ปล่อย 100 พร้อมยกระดับชุมชนประมงเป็นต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรประมง
วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน (เพชรบุรี) ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กรมประมงจัดพิธีเปิดงานบริหารจัดการการทำประมงปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน ประจำปี พ.ศ. 2567 เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ทำประมงปลาบึก จับปลาบึกได้อย่างถูกกฎหมายตามห้วงเวลาที่กำหนด ภายใต้กฎและกติกาประจำปี ตามแนวคิดของชุมชน จับ 1 ตัว ปล่อย 100 ตัว ประกอบอาชีพประมงควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน ตอบโจทย์ตามนโยบายความมั่นคงทางอาหารของทางรัฐบาล โดยมีนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี มีชาวประมง ผู้นำชุมชน นักเรียน เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 500 คน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ปลาบึก” เป็นปลาหนังน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแม่น้ำโขง ตั้งแต่ประเทศจีน ลาว เมียนมา ไทย แต่ในอดีตมีการจับปลาบึกมากเกินไป ประกอบกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำเสื่อมโทรมลง จึงส่งผลให้ประชากรปลาบึกลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธ์ และติดอยู่ในบัญชี CITES กลุ่ม 1 ชนิดสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ.ศ. 2526 กรมประมงประสบความสำเร็จสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาบึกด้วยวิธีการฉีดฮอร์โมนผสมเทียมครั้งแรก กระทั่งปัจจุบันนี้กรมประมงสามารถเพาะปลาบึกได้ทั้งในบ่อดินและบ่อปูนซีเมนต์ โดยปลาบึกที่มีขายอยู่ส่วนใหญ่ตามท้องตลาดเป็นผลพวงจากการปล่อยลูกพันธุ์จากการผสมเทียมของกรมประมง
สำหรับอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นแหล่งน้ำปิดที่กรมประมงได้นำลูกพันธุ์ปลาบึก มาปล่อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 และปล่อยต่อเนื่องกันมาทุกปี โดยการทำประมงในแหล่งน้ำนี้ ชาวประมงในพื้นที่จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการทำประมงเพื่อการอนุรักษ์ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2550 กรมประมงได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างการจัดการชุมชนประมงต้นแบบ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชนประมงรอบๆ เขื่อน มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงในเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สามารถแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ปัญหาการลดลงของประชากรสัตว์น้ำ ความขัดแย้งจากการบังคับใช้กฎหมาย และการขาดการมีส่วนร่วม ฯลฯ ด้วยการจัดตั้งกลไกความร่วมมือจากภาคประชาชน ผู้แทนของแต่ละชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้จดทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในชื่อ “กลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพื่อการอนุรักษ์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเขื่อนแก่งกระจาน” มีสมาชิก จำนวน 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนประมงบ้านท่าเรือ ชุมชนประมงบ้านวังวน ชุมชนประมงบ้านท่าลิงลม ชุมชนประมงบ้านพุเข็ม ชุมชนประมงบ้านพุบอน และชุมชนประมงบ้านน้ำทรัพย์ มีการดำเนินกิจกรรมการบริหารจัดการการทำปลาบึกมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ กิจกรรมการปล่อยพันธุ์ปลาบึกเพื่อเพิ่มผลผลิตในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดให้จับปลาบึกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนมกราคมของทุกปี รวมระยะเวลา 60 วัน หรือ ได้จำนวนปลาบึกที่กำหนด ซึ่งที่ผ่านมาปล่อยปลาบึกไปแล้วกว่า 50,000 ตัว ภายใต้กฎกติกาประจำปีเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ปลาบึกควบคู่ไปกับการทำประมงปลาบึกของสมาชิกกลุ่มฯ และตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน พบว่าแต่ละปีมีการทำประมงได้ปีละ 50 ตัว ยกเว้นปี พ.ศ. 2566 ที่สามารถทำประมงปลาบึกได้ 60 ตัว สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนไปแล้วมากกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนหมุนเวียนก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ที่ยั่งยืน
โดยกิจกรรม “การบริหารจัดการการทำการประมงปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน ประจำปี พ.ศ. 2567” ในวันนี้ ได้มีการเปิดให้ชาวประมงปลาบึก จำนวน 21 ราย สามารถทำการประมงได้ ภายใต้แนวคิด จับ 1 ปล่อย 100 ความหมาย คือ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการทำประมงปลาบึกแล้ว ชาวประมงทั้งหมดสามารถจับปลาบึกได้จำนวนเท่าใด ในช่วงประมาณเดือนเมษายน 2568 จะมีการจัดกิจกรรมปล่อยพันธ์ปลาบึกลงสู่เขื่อนแก่งกระจาน โดยจะปล่อยจำนวน 100 เท่าของจำนวนปลาบึกที่จับได้ เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกโดยชุมชน นอกจากนี้ ภายในงานมีการมอบเงินอุดหนุนแก่องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรีที่เข้าร่วมโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตสินค้าประมง จำนวน 6 องค์กร องค์กรละ 100,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดการประมงในพื้นที่ และมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ผู้แทนชุมชนประมงรอบเขื่อนแก่งกระจาน 6 ชุมชน อีกทั้ง ยังมีการมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ “กลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเพื่อการอนุรักษ์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเขื่อนแก่งกระจาน” ชุมชนที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ระดับดี สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ.2567 และ “นายมงคล แพรเนียม” อาสาสมัครดีเด่นแห่งชาติด้านเครือข่ายเฝ้าระวังการทำการประมง ประจำปี พ.ศ. 2567 พร้อมปล่อยพันธุ์ปลาบึก 12,200 ตัว พันธุ์ปลาตะเพียน 100,000 ตัว ปลาตุ้ม 1,000,000 ตัว พันธุ์กุ้งก้ามกราม 1,000,000 ตัว รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,112,200 ตัว ลงสู่เขื่อนแก่งกระจาน ตลอดจนจัดแสดงนิทรรศการความรู้ทางการประมง การเพาะพันธุ์ปลาบึก / สถานภาพของทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ผลจับสัตว์น้ำและแผนการจัดการทรัพยากรประมงในอ่างเก็บน้ำฯ / การบริหารจัดการการทำประมงปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน / การบริหารจัดการพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกของกรมประมงเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ / จัดแสดงเครื่องมือทำการประมงปลาบึก เงื่อนไขและวิธีการทำการประมง / จัดแสดงชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) / จัดแสดงปลาเวียน ปลาประจำถิ่น และจัดแสดงผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำอีกมากมาย
อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนและสถาบันเกษตรกรเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอัครา พรหมเผ่า) เน้นย้ำให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ซึ่งกรมประมงได้ขานรับนโยบายมาปฏิบัติและขับเคลื่อนในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ อาทิ ธนาคารสัตว์น้ำประจำชุมชน ศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาประจำชุมชน โครงการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำชุมชน เป็นต้น ดังนั้น การจัดงานในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมภายใต้นโยบายดังกล่าว กรมประมงมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชนมีส่วนร่วม จะส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีกินมีใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ชาวประมงมีรายได้ ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างมวลชนร่วมกันดำเนินกิจกรรมสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน อันส่งผลให้เกิดความสามัคคีของคนในชุมชน เกิดธุรกิจต่อเนื่องจากอาชีพประมง เกิดการจัดตั้งกองทุนพัฒนาอาชีพประมง/บรรเทาความเดือดร้อนให้กับสมาชิกในชุมชน ช่วยปลูกฝัง จิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดให้กับคนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน จนสามารถพัฒนาสู่การเป็นชุมชนประมงต้นแบบด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมง เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน และขยายผลต่อยอดโครงการฯ เป็นโมเดลไปสู่ชุมชนอื่นๆ
เงื่อนไขและวิธีการทำการประมงปลาบึก
1) กำหนดระยะเวลาการทำการประมงปลาบึกบริเวณเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ในช่วงระหว่างเดือน พฤศจิกายน – เดือนมกราคมของทุกปี รวมระยะเวลา 60 วัน หรือ ได้จำนวนปลาบึกที่กำหนด
2) สมาชิกกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมง เขื่อนแก่งกระจาน และชาวประมงในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี สามารถยื่นใบสมัครทำการประมงได้ ณ ที่ทำการกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพื่อการอนุรักษ์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเขื่อนแก่งกระจาน
3) ข่ายปลาบึกที่ใช้ทำการประมง มีขนาดช่องตาไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร
4) เมื่อจับปลาบึกได้ ชาวประมงผู้นั้นแจ้งคณะกรรมการกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเขื่อนแก่งกระจานทราบทุกครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านสภาวะการประมง
5) ชาวประมงผู้ใดจับปลาบึกได้ต้องร่วมสมทบทุนเงินเข้ากองทุนปลา อัตราตัวละ 1,000 บาท/ตัวเพื่อกลุ่มฯ จะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปดำเนินการจัดซื้อพันธุ์ปลาบึกมาปล่อยทดแทนบริเวณเขื่อนแก่งกระจาน เป็นประจำทุกปี
6) แสดงบัตรประจำตัวผู้ทำการประมงปลาบึก
7) ชาวประมงผู้ประสงค์ทำการประมงปลาบึก เขื่อนแก่งกระจาน สวมใส่เสื้อชูชีพ หรือมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตผูกไว้ประจำเรือ
กฎ กติกา การทำการประมง
1) ชาวประมงผู้ใดทำการประมงปลาบึก เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการทำการประมงของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเขื่อนแก่งกระจาน ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสด จำนวน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) และห้ามทำการประมงปลาบึก หากยังมีการฝ่าฝืนลักลอบทำการประมงปลาบึกอีก ให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเขื่อนแก่งกระจาน ยึดเครื่องมือข่าย ปลาบึกไว้
2) ชาวประมงผู้ใดจับปลาบึกได้แล้วไม่แจ้งข้อมูลให้หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน (เพชรบุรี) และคณะกรรมการกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมง เขื่อนแก่งกระจานทราบ ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสด จำนวน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) และห้ามทำการประมงปลาบึกในปีต่อไป
3) ชาวประมงผู้ใดทำการประมงปลาบึก เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ไม่พกพา หรือไม่แสดง บัตรประจำตัวผู้ทำการประมงปลาบึกประจำปี ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสด จำนวน 100 บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน) โดยสมาชิกกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเขื่อนแก่งกระจาน เป็นผู้ดำเนินการ
4) ผู้รับซื้อปลาบึกต้องลงทะเบียน ณ หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน (เพชรบุรี) กรณีมีผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสด จำนวน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) โดยสมาชิกกลุ่มประกอบอาชีพทำการประมงเขื่อนแก่งกระจาน เป็นผู้ดำเนินการ
รายชื่อกลุ่มชุมชนประมงท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรีที่เข้าร่วมโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตสินค้าประมง รับมอบเงินอุดหนุน จำนวน 6 องค์กร ได้แก่
(1) กลุ่มประมงท้องถิ่นพะเนินยั่งยืน หมู่ 1 ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
(2) กลุ่มประมงพื้นบ้านเก็บหอยด้วยมือ หมู่ 2 ต.บางขุนไทร อ. บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
(3) กลุ่มประมงทะเลชายฝั่งพื้นบ้านโตนดน้อย หมู่ 12 ต.หนองขนาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี
(4) กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมตำบลปากทะเล หมู่ 1 ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
(5) กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง ต.นาพันสาม หมู่ 5 ต.นาพันสาม อ.เมือง จ.เพชรบุรี (6) กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำห้วยแม่เพรียง หมู่ 5 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
กรมประมง