แมลงศัตรูพืชที่ระบาดในหน้าหนาว
เมื่อประเทศไทย เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวอากาศอุณหภูมิลดต่ำลง สภาพอากาศแห้งและหนาวถึงหนาวจัดในบาพื้นที่ ลักษณะอากาศเช่นนี้จะส่งผลให้แมลงศัตรูพืชระบาดทำความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นไม้ผล พืชผัก ดอกไม้ และข้าว ดังนั้น ในช่วงฤดูหนาวนี้ เกษตรกรจึงควรเตรียมป้องกันและเฝ้าระวังศัตรูพืชที่มักระบาดในช่วงฤดูหนาวซึ่งศัตรูพืชที่มักจะมากับความหนาวเย็น ได้แก่
1. หนอนใยผัก (Diamondback moth)เป็นศัตรูกับผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก วางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ หรือกลุ่มเล็กๆ ตามส่วนยอดของพืชผักทั้งบนใบและใต้ใบ ไข่มีสีเหลืองอ่อน หนอนลำตัวยาวเรียว หัวท้ายแหลมสีขาวนวล ลักษณะการทำลายจะชอนใบ กัดกินใบและยอดอ่อนเป็นรูพรุน โดยจะชอบแทะกินผิวใบด้านล่าง และปล่อยเหลือผิวใบด้านบนไว้เป็นเยื่อโปร่งแสงเป็นวงกว้าง หากมีการระบาดมากจะกัดกินจนเหลือแต่ก้านใบหรือใบแหว่งเหี่ยวตายได้ง่าย สามารถระบาดได้ตลอดทั้งปี ซึ่งในช่วงฤดูหนาวจะเหมาะสมต่อการขยายพันธุ์เป็นอย่างดี
2. หนอนคืบกะหล่ำ (Cabbage looper, cabbage semi-looper) หรือหนอนคืบเขียว หรือหนอนเขียว เป็นศัตรูสำคัญของผักตระกูลกะหล่ำ โดยเฉพาะผักคะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดขาว ผักตระกูลถั่ว เช่น ถั่วลันเตา ตัวหนอนจะมีสีเขียวอ่อน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อขนาดกลาง วางไข่ เป็นฟองเดี่ยว ๆ สีขาวนวล หรือเหลืองอ่อนตามใต้ใบตัวหนอนจะมีลำตัว แบ่งออกเป็นปล้องชัดเจน และมีขนปกคลุมกระจายทั่วไป ลำตัวมีแถบสีขาว ลักษณะการทำลายในระยะแรกตัวหนอนจะกัดกินที่ผิวใบ เมื่อตัวหนอนโตขึ้นจะกัดกินใบทำให้เป็นรอยแหว่ง เหลือแต่ก้านใบ
3. ด้วงหมัดผัก (Flea Beetle) หรือ หมัดผัก หมัดกระโดด ตัวกระเจ๊า เป็นศัตรูของผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด ตัวเต็มวัยจะมีปากแบบกัดกิน ลำตัวขนาดเล็ก ชอบวางไข่บริเวณโคนต้นพืช และตามพื้นดิน ไข่รูปร่างคล้ายไข่ไก่สีขาวอมเขียวผิวเรียบเป็นมัน ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนชอบกัดกินรากหรือหัวใต้ดิน ตัวเต็มวัยมักชอบกัดกินใบผักจนเป็นรูพรุน ชอบทำลายในผักจำพวกที่มีกลิ่นฉุน
การป้องกันกำจัดแนวทางป้องกันกำจัด
1. การใช้กับดักชนิดต่างๆ ได้แก่ กับดักกาวเหนียวสีเหลือง เป็นกับดักทรงกระบอก หรือกระป๋องน้ำมันเครื่องสีเหลืองทาด้วยกาวเหนียว ทุก 7-10 วันครั้ง สามารถจับผีเสื้อหนอน ใยผักได้เฉลี่ย 16 ตัวต่อวันต่อกับดัก โดยจับผีเสื้อเพศเมีย : เพศผู้ ได้ 0.79 : 1 และเมื่อติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดักต่อไร่ สามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์กับดักแสงไฟ หลอดสีน้ำเงิน 20 วัตต์ เป็นหลอดเรืองแสง ที่เหมาะสมในการใช้จับผีเสื้อหนอนใยผักมากที่สุด มีราคาถูกกว่าหลอด blacklight-blue 20 วัตต์ และปลอดภัยไม่มีอันตรายจากแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ในการติดตั้งกับดักแสงไฟควรติดตั้งรอบนอกแปลงผัก และควรดำเนินการติดตั้งพร้อมกัน ในพื้นที่
2. การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง โดยการปลูกผักในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่ายไนล่อน ขนาด 16 mesh (256 ช่องต่อตารางนิ้ว) สามารถป้องกันการเข้าทำลายของหนอน ใยผักและหนอนผีเสื้ออื่นๆ ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้โรงเรือนตาข่ายไนล่อนต้องปิดอย่างมิดชิดตลอดเวลาเพื่อป้องกันผีเสื้อเพศเมียเล็ดลอดเข้าไปวางไข่
3. การใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ การใช้เชื้อแบคทีเรีย (บาซิลลัส ทูริงเยนซิส) ปกติในธรรมชาติจะพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนใยผัก แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อปริมาณ เชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้หนอน ใยผักตาย ปัจจุบันจึงมีการผลิตเชื้อแบคทีเรียในรูปการค้าออกจำหน่ายที่สำคัญมี 2 สายพันธุ์ คือ Bacillus thuringiensis subsp. aizawai และ Bacillus thuringiensis subsp. kurstaki อัตรา 100-200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (ไม่ควรใช้ในแหล่งปลูกผักภาคกลาง ในช่วงที่มีการระบาดมากพิจารณาการใช้อัตราสูง และช่วงเวลาพ่นถี่ขึ้น หรือพ่นสลับสารฆ่าแมลง)
4. การใช้วิธีทางเขตกรรม สามารถช่วยลดการระบาดของหนอน ใยผักได้ เช่น การไถพรวนดินตากแดด หรือการทำลายซากพืชอาหาร หรือการปลูกพืชหมุนเวียน ทั้งนี้เพื่อขัดขวางการขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่องของหนอนใยผัก
5. การใช้ระดับเศรษฐกิจและการสุ่มตัวอย่าง ในการพิจารณาพ่นสารฆ่าแมลงป้องกันกำจัดหนอนใยผัก ควรสำรวจตรวจนับจำนวนหนอนใยผักก่อนตัดสินใจ โดยทำการสำรวจแบบซีเควนเชียล ซึ่งเป็นวิธีการที่รวดเร็ว สะดวก และมีความแม่นยำสูง ผลการใช้ตารางสำรวจสามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
6. การใช้สารฆ่าแมลง เนื่องจากหนอนใยผักเป็นแมลงที่สามารถสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้รวดเร็ว และหลายชนิด การพิจารณาเลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถป้องกันกำจัดหนอนใยผักไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหายได้ สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก ได้แก่ สไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลเฟนไพแร็ด 16% อีซีอัตรา 40 – 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 60-80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (ควรใช้สลับกลุ่มสาร และใช้ไม่เกิน 2-3 ครั้งต่อฤดู และใช้สลับกับการใช้เชื้อแบคทีเรียเมื่อการระบาดลดลง เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความต้านทาน)
กรมส่งเสริมการเกษตร