เกษตรเขต 5 ลงพื้นที่ให้กำลังใจ ผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้

14

เกษตรเขต 5 ระดมทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้

กรมส่งเสริมการเกษตร โดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ระดมทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจเกษตรกร ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ ผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้

วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2567) นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ประธานศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์ภัยพิบัติด้านพืช (ศปภ.ที่ 5) ได้มอบหมายทีมเจ้าหน้าที่จาก สสก.5 สงขลา ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจเกษตรกร ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ส่งมอบน้ำดื่มและอาหาร โดยแบ่งเป็น 2 ทีม

ทีมที่ 1 โดย นางสุนิภา คีรีนารถ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ลงพื้นที่อำเภอบางกล่ำ และอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่มีน้ำเป็นจำนวนมาก เส้นทางบางช่วงรถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ พื้นที่การเกษตร มีพื้นที่นาข้าวที่คาดว่าจะเสียหายสิ้นเชิง ส่วนพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา ต้องฟื้นฟู หลังน้ำลด

ทีมที่ 2 โดย นางศิริมา บางัสสาเร๊ะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบุคลากร ได้รับมอบน้ำดื่ม และอาหารจากครัวกลาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 1,000 ชุด นำส่งมอบให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนใต้ ได้แก่ อำเภอเทพา นาทวี จะนะ และอำเภอสะบ้าย้อย

พร้อมนี้ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ และตรวจสอบความเสียหายในพื้นที่ และได้มีการมอบเสื้อชูชีพ น้ำดื่ม และอาหาร จากการบริจาคของเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ทั้งนี้ เส้นทางจากจังหวัดสงขลาเข้าสู่จังหวัดปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส รถยังไม่สามารถสัญจรผ่านได้ จึงยังไม่สามารถ เข้าพื้นที่ดังกล่าวได้

นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำชับให้ทุกสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนัก หนักมาก และฝนตกสะสมในระหว่างวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ และรายงานจากสำนักงานเกษตรจังหวัด ภาพรวมคาดว่าพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายหนัก คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดสงขลา ด้าน ศปภ.ที่ 5 ได้ติดตามสถานการณ์ และรวบรวมรายงานการคาดการณ์ความเสียหายเบื้องต้นทุกวัน ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ประสบภัยทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา ยะลา นครศรีธรรมราช สตูล ปัตตานี นราธิวาส และจังหวัดตรัง 72 อำเภอ 485 ตำบล 3,161 หมู่บ้าน พื้นที่ประสบภัย 550,699 ไร่ พื้นที่เสียหาย 133,089 ไร่ คิดเป็น 24 % ของพื้นที่ประสบภัย แบ่งเป็น ข้าว 50,966 ไร่ พืชไร่ และพืชผัก 10,656 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 71,467 ไร่เกษตรกรคาดว่าจะเสียหาย 61,576 ครัวเรือน

กรมส่งเสริมการเกษตร