เกษตรฯ ใช้เทคโนโลยี ยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์

24

กรมส่งเสริมการเกษตร ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ พัฒนาบทบาทสตรีในภาคเกษตรสู่มาตรฐานสากล

กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และกระบวนการผลิตที่ทันสมัย เพื่อยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสู่มาตรฐานสากล จะส่งผลให้สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร มีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

นายสุริยะ คำปวง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่มีบทบาทสำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในหลายมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำให้ภาคเกษตรเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่สำคัญ และเป็นแหล่งวัตถุดิบหรือต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงเป็นรากฐานของการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไม่เพียงแต่เป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรและชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตรไทย จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคผ่านการพัฒนาคุณภาพ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานมูลค่าสูงที่มีศักยภาพ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรนั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาบทบาทของสตรีในภาคเกษตร โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ซึ่งเป็น 1 ใน 8 เครือข่าย (แปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน Smart Farmer/Young Smart Farmer และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร)  เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการแบบมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ

นายสุริยะ คำปวง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ในปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขององค์กรเกษตรกรสู่ห่วงโซ่อุปทานมูลค่าสูงขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์
แจ้งวัฒนะ และศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้มีความรู้ ความเข้าใจในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า และผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับมาตรฐานสู่สากล ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และกระบวนการผลิตที่ทันสมัยในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน มุ่งสู่ห่วงโซ่อุปทานมูลค่าสูง และสร้างโอกาสทางการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ตลอดจนเป็นการเตรียมเข้าร่วมเฉลิมฉลองปีสากลเกษตรกรสตรีในปี 2569  ที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล และส่งเสริม จำนวน 10,276 กลุ่ม โดยส่วนใหญ่มีการดำเนินกิจกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนเกษตรกร ตลอดจนช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี

กรมส่งเสริมการเกษตร