กรมส่งเสริมการเกษตร ปลื้ม!

896

รับรางวัลบริหารแบบมีส่วนร่วม ระดับดี สัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม

นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เรื่อง ผลการพิจารณารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2563 คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) ได้มีมติให้มอบรางวัลให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศ ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร และเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective change) จากผลงาน ชุมชนบางตลาดร่วมใจ บริหารจัดการผลผลิตมะพร้าวอ่อนแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการบนพื้นฐานความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนไต้อย่างแท้จริง

 อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลงาน/โครงการชุมชนบางตลาดร่วมใจ บริหารจัดการผลผลิตมะพร้าวอ่อนแบบ บูรณาการ เป็นผลงานจาก ต.บางตลาด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่มีคุณภาพแหล่งหนึ่งของประเทศ แต่ปัจจุบันปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ประกอบกับประสบปัญหา เศษวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปมะพร้าว ก่อมลพิษและอาจเป็นแหล่งสะสมโรคและแมลงศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร จึงดำเนินการโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชน และหน่วยงานภาคีในลักษณะที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย โดยกระตุ้นให้เกษตรกร สามารถคิด วิเคราะห์ และร่วมวางแผนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเอง และมีเกษตรกรเครือข่ายเป็นผู้ประสานการถ่ายทอดความรู้และแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในเบื้องต้น โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรคอยให้คำปรึกษา เป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนด้านวิชาการ ส่งผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่ชุมชน คือ ชุมชนสามารถลดต้นทุนการผลิต จากการผลิตปุ๋ยใช้เองตามการตรวจวิเคราะห์ดิน และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้ปุ๋ยที่ตรงกับความต้องการของพืช ลดการเผาและปริมาณขยะเปลือกมะพร้าว ตลอดจนลดการสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืช โดยการผลิตเป็นขุยมะพร้าว และนำไปขายต่อให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้ มีการต่อยอดเชื่อมโยงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทั้งในตำบลและในอำเภอด้วย รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างตราสัญลักษณ์สินค้าของชุมขนเพื่อประชาสัมพันธ์ และเตรียมพร้อมเปิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักต่อไป สอดคล้องกับวัตถุ ประสงค์หลักในการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชุมชน คือ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างและพัฒนาตลาดด้วยตนเองอย่างยั่งยืน” และวิสัยทัศของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ว่า “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีรายได้ที่มั่นคง”

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว