หนุนผลิตกล้วยหินปลอดโรค

1,586

เกษตรฯ หนุนผลิตกล้วยหินปลอดโรค แก้ปัญหาการระบาดโรคเหี่ยวในกล้วย

ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงปัญหาการระบาดของโรคเหี่ยวในกล้วย ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร โดยเฉพาะกล้วยหิน ซึ่งเป็นผลไม้สำคัญของทางจังหวัดยะลา กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้เร่งผลิตกล้วยหินปลอดโรค เพื่อแก้ปัญหาโรคเหี่ยวซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ส่งผลให้ผลผลิตกล้วยหินไม่เพียงพอ และขาดแคลนแหล่งพันธุ์ดีปลอดโรค

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการผลิตกล้วยหินปลอดโรค โดยใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และส่งมอบ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา จำนวน 6,000 ต้น ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้แจกจ่ายให้กับเกษตรกรครบตามจำนวนแล้ว

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ปัจจุบันกรมฯ ได้ดำเนินการจัดการโรคเหี่ยวกล้วยหินในรูปแบบบูรณาการร่วม โดยดำเนินการ 4 ด้าน ได้แก่

  1. การจัดทำแปลงสาธิตการจัดการโรคเหี่ยวกล้วยหิน เพื่อทดสอบเทคโนโลยีการจัดการตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ศึกษาทดสอบสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากแปลงสาธิตได้โดยที่ผลผลิตไม่ได้รับความเสียหายจากการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรค
  2. สร้างแหล่งสำรองพันธุ์กล้วยหิน โดยการขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ปลอดโรค (ในพื้นที่ที่ไม่เคยปลูกกล้วยหิน) ด้วยการใช้ต้นพันธุ์กล้วยหินจากวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช
  3. สร้างพื้นที่ปลอดโรคเหี่ยวนำร่อง โดยสนับสนุนให้เกษตรกรทำลายต้นกล้วยหินที่เป็นโรคและทำการอบดินฆ่าเชื้อก่อนปลูกตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
  4. สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคเหี่ยวและวิธีการจัดการโรค ให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรทุกอำเภอของจังหวัดยะลา

“กล้วยหิน” เป็นกล้วยที่มีเนื้อเหนียว ไม่เละ รสชาติหวานหอมอร่อยมาก แปรรูปได้หลากหลาย มีแนวโน้มความต้องการกล้วยหินเพิ่มขึ้น จากการส่งออกกล้วยหินไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย และยังนิยมนำไปเป็นอาหารเลี้ยงนกปรอดกับนกกรงหัวจุก ทำให้นกมีอารมณ์ดี แข็งแรง และมีขนเป็นมันสวยงามนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะของจังหวัดยะลา โดยเป็นพืชประจำถิ่นที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI : Geographical Indication) ในชื่อกล้วยหินบันนังสตา มีลักษณะคล้ายกับกล้วยน้ำว้า ลำต้นใหญ่ โคนต้นวัดโดยรอบประมาณ 70 เซนติเมตร  สูง 3.5 – 5 เมตร กาบด้านนอกสีเขียวนวล ก้านใบค่อนข้างสั้น ร่องใบเปิด ใบกว้าง 40 – 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5 เมตร ปลีรูปร่างค่อนข้างป้อมสั้น รูปร่างคล้ายดอกบัวตูม ด้านนอกของปลีเป็นสีแดงอมม่วง ด้านในสีแดง กาบปลีเมื่อบานเปิดกางออก (ไม่ม้วนงอแบบกล้วยหอมหรือกล้วยน้ำว้า) โดยจะแทงปลีเมื่ออายุประมาณ 8 เดือนหลังปลูก และใช้เวลาประมาณ 4 เดือน (120 วัน) ผลผลิตจึงจะแก่พอสำหรับเก็บเกี่ยวได้ เมื่ออายุประมาณ 12 เดือนหลังปลูก กล้วยหินแต่ละต้นมี 1 เครือ เครือหนึ่ง มี 7–10 หวี หวีหนึ่งมี 15 – 20 ผล ทรงผลเป็นรูปห้าเหลี่ยม เปลือกค่อนข้างหนา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร ผลยาวประมาณ 8 – 12 เซนติเมตร ปลายจุกป้าน ผลดิบเปลือกจะมีสีเขียว เนื้อแข็ง เมื่อสุกเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เนื้อสีขาวอมเหลืองถึงเหลือง เนื้อมีความแน่นแข็ง ไม่ยุ่ย เมื่อผลแก่จัดสามารถตัดมาเก็บไว้ได้นาน 7 – 8 วัน การเรียงตัวของผลเป็นระเบียบ มีช่องว่างเล็กน้อยอยู่ระหว่างหวีแต่ละหวี

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว