เกษตรฯ รุกช่วยเกษตรกรปลูกดาวเรือง ประสานหน่วยงานช่วยเหลือเกษตรกรทันที
จากกรณีที่มีการนำเสนอ ราคาดอกดาวเรืองตกต่ำลงอย่างมากในสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่โดยล่าสุดราคาดอกดาวเรืองเหลืออยู่ที่ 20-40 สตางค์ต่อดอก จากช่วงปกติที่มีราคาประมาณดอกละ 1 บาท ประกอบกับในปีนี้ไม่อนุญาตให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ดาวเรืองที่เคยเป็นที่นิยมไปประกอบในงานต่างๆจึงขายไม่ได้ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกดาวเรืองไม่สามารถแบกรับกับต้นทุนค่าดูแลและเก็บเกี่ยว ถึงแม้พ่อค้าแม่ค้าพยายามช่วยรับซื้อดาวเรืองจากเกษตรกร แต่ก็เท่ากับเป็นการส่งต่อภาวะขาดทุน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหา นั้น
กรมส่งเสริมการเกษตร ขอชี้แจงว่า กรมส่งเสริมการเกษตรสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเกษตรกรในพื้นที่พบว่าพื้นที่ปลูกดาวเรือง ของ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย ต.ลำเพียก เกษตรกรจำนวน 8 ราย พื้นที่ปลูกรวมประมาณ 60 ไร่ และ ต.ตะแบกบาน (บ้านหนองผักไร) ตามที่ปรากฎเป็นข่าว เกษตรกรจำนวน 2 ราย พื้นที่ปลูกรวมประมาณจำนวน 19 ไร่ สำหรับสถานการณ์ตลาดดาวเรืองช่วงนี้พบว่า เกษตรกรมีการตัดจำหน่ายที่ปากคลองตลาด กรุงเทพฯ และมีพ่อค้ามารับซื้อประจำ และนำไปใช้สำหรับการกราบไหว้บูชา แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 วัดบางแห่งปิด และวัดที่สั่งซื้อเป็นประจำ ลดจำนวนการซื้อลง ทำให้ไม่รับซื้อจากเกษตรกร
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การปลูกดาวเรือง เป็นฤดูกาลปลูกปกติ คือ เกษตรกรปลูกช่วงหลังฝน (ฤดูแล้ง) หรือหลังนา เพราะจะเลี่ยงเรื่องโรคเน่า อายุการปลูก ประมาณ 2 เดือน (55 – 70 วัน) จากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ปี 2563 พบว่าดาวเรืองตัดดอก ทั้งประเทศ มีเกษตรกรปลูกพื้นที่ปลูก 1,788 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 4,212.90 ไร่ กระจายทั่วประเทศ โดยมีแหล่งผลิตสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่
- จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรจำนวน 102 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 464 ไร่
- จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรจำนวน 80 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 137 ไร่
- จังหวัดตาก เกษตรกร จำนวน 87 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 734 ไร่
- จังหวัดราชบุรี เกษตรกร จำนวน 83 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 135 ไร่
- จังหวัดสุพรรณบุรี เกษตรกร จำนวน 62 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 133 ไร่
ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาคุณภาพการผลิตมาโดยตลอด นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ประสานการลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรทันที เบื้องต้นได้ประสานงานกับพาณิชย์จังหวัด ในการหาช่องทางการระบายสินค้าเพิ่มเติมพร้อมกับจัดทำแผนบริหารสินค้า เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป
กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว