ปล่อยพันธุ์ปูทะเลกว่า 3 แสนตัว

919

เปิดโครงการ “คืน คง เพิ่ม เติมสัตว์น้ำบริเวณแหล่งก่อเกิดทรัพยากรประมง” ปล่อยพันธุ์ปูทะเลกว่า 3 แสนตัว

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564  ณ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จัดโครงการ “คืน คง เพิ่ม เติมสัตว์น้ำบริเวณแหล่งก่อเกิดทรัพยากรประมง” ประเดิมปล่อยลูกพันธุ์ปูทะเลจำนวนกว่า 3 แสนตัว เร่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศป่าชายเลน เพื่อคงความยั่งยืนให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำ พร้อมเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรชาวประมงในพื้นที่  โดยในโอกาสนี้ นายสืบยศ ใบแย้ม คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดกิจกรรมและปล่อยลูกพันธุ์ปูทะเล

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า  “ปูทะเล” นับเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ด้วยรสชาติที่ดีและยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงทำให้ความต้องการปูทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าปริมาณปูทะเลในธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป และการทำการประมงที่เกินกำลังการผลิต จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูเพื่อเพิ่มปริมาณทรัพยากรปูทะเลให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องในอนาคต  ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นให้มีการฟื้นฟูทรัพยากรประมง และเร่งสร้างแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ชุมชนประมงต่าง ๆ ทั่วประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน พร้อมลดอุปสรรคและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวประมง

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์
รองอธิบดีกรมประมง

การจัดโครงการ “คืน คง เพิ่ม เติม สัตว์น้ำบริเวณแหล่งก่อเกิดทรัพยากรประมง” ณ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศชายเลนสิรินาถราชินี ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อปล่อยพันธุ์ปูทะเลจำนวนกว่า 3 แสนตัว ในครั้งนี้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเพิ่มปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำในระบบนิเวศป่าชายเลนให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวจัดเป็นแหล่งวางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ที่มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกพันธุ์ปูทะเลที่ปล่อยไปนั้นสามารถเจริญเติบโตกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์และเพิ่มผลผลิตทรัพยากรปูทะเลต่อไป  

ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ปูทะเลเศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ อาทิเช่น ปูทะเล ปูม้า และปูแสม  นิทรรศการธนาคารปูม้าของกลุ่มเกษตรกรบ้านปากน้ำปราณ และนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการมอบหนังสือรับรองมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวประมง จำนวน 11 ราย และมอบเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนให้แก่องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกจำนวน 24 กลุ่มด้วย

รองอธิบดีกรมประมง  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปูทะเลที่พบในน่านน้ำไทยมี 4 ชนิด คือ ปูดำหรือปูแดง (Scylla olivacea) ปูเขียวหรือปูทองโหลง (Scylla serrata) ปูม่วง (Scylla tranquebarica) และ ปูขาวหรือปูทองหลาง (Scylla paramamosain) ซึ่งชนิดที่นิยมนำมาเพาะเลี้ยงคือ ปูขาวหรือปูทองหลาง ซึ่งกรมประมงดำเนินการทดลองเพาะพันธุ์ครั้งแรกในปี 2522 และได้เริ่มดำเนินการเพาะพันธุ์จนประสบความสำเร็จอีกครั้งในปี 2538 พร้อมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกองวิจัยพัฒนาสัตว์น้ำชายฝั่งดำเนินการผลิตเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเรื่อยมา  นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายลูกพันธุ์ปูทะเลให้เกษตรกรได้นำไปเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์อีกด้วย

“เชื่อมั่นว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปูทะเลในธรรมชาติเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และคืนความอุดมสมบูรณ์กลับมาในระยะยาวได้เป็นอย่างดี  อีกทั้ง ยังสามารถเพิ่มรายได้และทำให้เกษตรกรชาวประมงมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป”
รองอธิบดีกรมประมงกล่าว 

กรมประมง ข่าว