เกษตรฯ สั่งการ จนท.สำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนภัยให้เฝ้าระวังพายุฤดูร้อนในช่วงระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคม 2564 เนื่องจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นด้วย ซึ่งเริ่มมีผลกระทบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายโดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 23-24 มีนาคม 2564 ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดเตือนภัยเกษตรกรให้เตรียมการป้องกันผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนดังกล่าว และให้รายงานความก้าวหน้าให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบเป็นรายวัน โดยเฉพาะสวนไม้ผลที่ขณะนี้ผลผลิตหลายชนิดใกล้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายหลังจากเกิดภัยธรรมชาติดังกล่าวแล้ว กรมฯ ได้รับแจ้งรายงานจากสำนักงานเกษตรจังหวัดถึงผลกระทบจากพายุฤดูร้อนที่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรและผลผลิตของเกษตรกรในหลายพื้นที่ จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจข้อมูลและดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยในเบื้องต้นทันที สำหรับพื้นที่ที่ได้รับแจ้งความเสียหายล่าสุดมี ดังนี้
สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี แจ้งว่า ในช่วงเช้ามืดวันที่ 22 มีนาคม 2564 เกิดฝนตก ฟ้าร้อง และมีลมกระโชกแรงเป็นระยะ ทำให้เกิดความเสียหายต่อไม้ผลของเกษตรกร ต้นทุเรียนโค่นล้ม ผลผลิตที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก ได้แก่ อำเภอขลุง พื้นที่ 4 ตำบล 13 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัย จำนวน 20 ราย ต้นทุเรียนโค่นล้ม กิ่งหักฉีก ผลผลิตทุเรียนร่วงหล่นประมาณ 90 ตัน พื้นที่ราว 300 ไร่ อำเภอท่าใหม่ พื้นที่ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัย 12 ราย ต้นทุเรียนโค่นล้ม 151 ต้น ผลผลิตทุเรียนร่วงหล่นประมาณ 8 ตัน พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ อำเภอเขาคิชฌกูฏ พื้นที่ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน และอำเภอโป่งน้ำร้อน พื้นที่ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัย จำนวน 1 ราย ต้นลำไยโค่นล้ม จำนวน 1 ต้น รวมพื้นที่ประสบภัย 4 อำเภอ 7 ตำบล 16 หมู่บ้าน ต้นทุเรียนโค่นล้ม 151 ต้น ผลผลิตทุเรียนร่วงหล่น 98 ตัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 16 ล้านบาท (ทุเรียนราคา ก.ก.ละ 160-170 บาท) โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจความเสียหาย ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีจะได้รวบรวมข้อมูลให้จังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินต่อไป
สำหรับผลผลิตทุเรียนที่ร่วงหล่นนั้น จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนนี้ ทางสำนักงานเกษตรอำเภอได้แจ้งเกษตรกรว่ามิให้ตัดงวงออก ซึ่งผลผลิตร่วงหล่นดังกล่าวจะมีพ่อค้าทุเรียนรับซื้อตามชนิดพันธุ์ สภาพผลและเนื้อสี โดยนำไปคัดแยกเพื่อบ่มสุก และนำเนื้อทุเรียนไปทำไอศกรีม ส่วนที่เหลือเกษตรกรสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอที่มีพื้นที่ประสบภัยจากพายุฤดูร้อนเร่งลงไปพบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเกษตรกรด้วย สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือยังยึดแนวทางตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี 2562 เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัยพิบัติ จึงจะได้รับการช่วยเหลือตามพื้นที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ กำหนดอัตราการช่วยเหลือดังนี้ ข้าว 1,113 บาทต่อไร่ พืชไร่ 1,148 บาทต่อไร่ และพืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาทต่อไร่
กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว