สศก.พัฒนาระบบประกันภัยเกษตร ต่อยอดงานวิจัยเฟ้นหาเทคนิค ตรวจสอบความเสียหายแม่นยำ
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีครัวเรือนเกษตร 8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นจำนวนเกษตรกรประมาณ 29.82 ล้านคน โดยปัญหาของเกษตรกร นอกเหนือจากปัญหาด้านการผลิตการตลาด และราคาแล้ว ยังประสบปัญหาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำท่วม ภัยแล้ง และแมลงศัตรูพืช ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการชดเชยเยียวยาให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติจำนวนมากเป็นประจำทุกปี
การประกันภัยการเกษตร จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบเร่งด่วน และเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการดำเนินงานโครงการของรัฐบาลในการประกันภัยข้าวนาปีมาตั้งแต่ปี 2554 และกำหนดเป็นวาระสำคัญในแผนปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่ปี 2559 รวมถึง มีการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งนโยบายของรัฐต้องการขยายการประกันภัยสินค้าเกษตรที่มีอยู่ให้ครอบคลุมทกชนิดสินค้าทั่วประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการประกันภัยที่ดำเนินงานโดยภาคเอกชน เช่น ทุเรียน ลำไย โคเนื้อ และโคนม แต่ทำเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการประกันภัยการเกษตรในช่วงที่ผ่านมา ยังมีปัญหาอุปสรรคหลายประการ เช่น กลไกการประกาศเขตภัยพิบัติ และความเสียหายรายแปลงที่มีความล่าช้า อีกทั้ง ไม่ครอบคลุมเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจทำประกันภัยของเกษตรกร ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จึงได้ศึกษาวิจัย โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบประกันภัยผลผลิตทางการเกษตรในปี 2564 เพื่อให้ได้แนวทางการพัฒนารูปแบบการประกันภัยการเกษตร โดยพัฒนาเทคนิค หรือ เครื่องมือในการตรวจสอบความเสียหายให้มีความแม่นยำ และเป็นที่ยอมรับ ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุม
“จากรายงานความเสียหายและการช่วยเหลือภัยพิบัติด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ตั้งแต่ปี 2551 – 2562 มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 9,508,047 ราย เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมเป็นเงิน 107,280.949 ล้านบาท ซึ่งถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงงบประมาณเหล่านี้ ให้อยู่ในรูปแบบประกันภัยที่เกษตรกรสามารถบริหารจัดการด้านการเงินของตัวเองได้อย่างยั่งยืน ก็จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยผลสำเร็จของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จะทำให้ได้เทคนิคและเครื่องมือที่ทันสมัย โดยเฉพาะเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และการประมวลผลเชิงภาพที่ช่วยในการคำนวณความเสียหายได้อย่างแม่นยำ เป็นที่ยอมรับทั้งในส่วนผู้เอาประกัน คือ ภาครัฐและเกษตรกร และผู้รับประกัน ซึ่งคือ ภาคเอกชน นำไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาระบบประกันภัยภาคเกษตรของประเทศที่มีประสิทธิภาพ ต่อไป” เลขาธิการ สศก. กล่าว
ทั้งนี้ โครงการศึกษาวิจัย ดังกล่าว สศก.จัดจ้างที่ปรึกษา คือ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ในกลุ่มพืชไร่ สินค้าข้าวเป็นชนิดแรก เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่ากลุ่มอื่น เพื่อเฟ้นหาเทคนิคและเครื่องมือทันสมัยจากเทคโนโลยี ในการตรวจสอบความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รวดเร็ว แม่นยำ และทันสถานการณ์ เกษตรกรสามารถรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยโทรศัพท์มือถือของตนเองอย่างง่ายดาย รวมถึงทำให้กระบวนการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส. จะไปถึงมือเกษตรกรได้รวดเร็วกว่าเดิม และการบริหารจัดการงบประมาณของภาครัฐ จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว