คืบหน้าโครงการเงินกู้ฯ

679

คืบหน้าโครงการเงินกู้ ธุรกิจดินปุ๋ยบางส่วนพร้อมให้บริการ เดินหน้าเต็มกำลัง

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรรับผิดชอบดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) และโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งเป็นโครงการแก้ไข ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และโครงการดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยทั้ง 2 โครงการในขณะนี้ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) สามารถดำเนินการในภาพรวมได้แล้วถึงร้อยละ 62.35 และโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด มีเกษตรกรสนใจและแจ้งเข้าร่วมโครงการแล้วถึงจำนวน 3,448 แปลง คิดเป็นร้อยละ 66 จากที่เสนอความต้องการไว้

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) เป็นโครงการที่ดำเนินการผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ตามความต้องการของเกษตรกร จึงมี ศดปช. สมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเกษตรกรลดภาระต้นทุนปุ๋ยเคมีลงได้จากการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยภาครัฐสนับสนุนชุดตรวจวิเคราะห์ดิน แม่ปุ๋ย N P K และเครื่องผสมปุ๋ย ให้แก่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น จัดหาปุ๋ยคุณภาพดีให้แก่สมาชิก ศดปช. กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งให้บริการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า สามารถดำเนินการในภาพรวมได้แล้วถึงร้อยละ 62.35 แบ่งเป็นการจัดซื้อวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์แล้วเสร็จ ประกอบด้วย ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน จำนวน 185 ศดปช. แม่ปุ๋ย N P K จำนวน 161 ศดปช. เครื่องผสมปุ๋ย จำนวน 99 ศดปช. ส่วนการเริ่มให้บริการในเชิงธุรกิจ มีการจดทะเบียนการค้าปุ๋ยแล้ว จำนวน 105 ศดปช. จัดทำแผนธุรกิจหรือโมเดลธุรกิจบริการดินและปุ๋ยแล้ว จำนวน 209 ศดปช. เปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินและให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยแล้ว จำนวน 174 ศดปช. เปิดจำหน่ายแม่ปุ๋ยพร้อมให้บริการแล้ว จำนวน 36 ศดปช. ให้บริการเครื่องผสมปุ๋ยแล้ว จำนวน 26 ศดปช. รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา Platform และ Application เพื่อให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ย และ Data Base คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในเดือนกันยายน 2564 นี้แน่นอน ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 และปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรเป้าหมายในพื้นที่ 1.6 ล้านไร่ ลดลงจากประมาณ 90,000 ตัน เหลือประมาณ 72,000 ตัน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด มติ ครม. เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด จำนวน 5,250 แปลง โดยมีเงื่อนไขกลุ่มแปลงใหญ่ที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณต้องจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ประเภทนิติบุคคล และให้เกษตรกรไปประเมินความพร้อมของกลุ่ม โดยศึกษาทำความเข้าใจกฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการยกระดับศักยภาพการบริหารจัดการของกลุ่มในรูปแบบของนิติบุคคล พร้อมทั้งทบทวนแผนการดำเนินงานของกลุ่มให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการยกระดับแปลงใหญ่ใน 3 มิติ ทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพมาตรฐานของสินค้า และการเชื่อมโยงตลาด

สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด พบว่า มีเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่แจ้งเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดภายในกรอบเวลา จำนวน 3,448 แปลง คิดเป็นร้อยละ 66 จากที่เสนอความต้องการไว้เดิมจำนวน 5,250 แปลง โดยจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว จำนวน 2,812 แปลง อยู่ระหว่างจดทะเบียนนิติบุคคลอีกจำนวน 636 แปลง โดยรายละเอียดเป็นการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตร จากเป้าหมายจำนวน 2,012 แปลง เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,090 แปลง คิดเป็นร้อยละ 54  กรมการข้าว จากเป้าหมายจำนวน 2,638 แปลง เข้าร่วมโครงการ จำนวน 2,064 แปลง คิดเป็นร้อยละ 78 กรมปศุสัตว์จากเป้าหมาย จำนวน 185 แปลง เข้าร่วมโครงการ จำนวน 115 แปลง คิดเป็นร้อยละ 62 กรมประมง จากเป้าหมายจำนวน 90 แปลง เข้าร่วมโครงการ จำนวน 29 แปลง คิดเป็นร้อยละ 32  การยางแห่งประเทศไทย จากเป้าหมายจำนวน 299 แปลง เข้าร่วมโครงการ จำนวน 133 แปลง คิดเป็นร้อยละ 45 และกรมหม่อนไหม จากเป้าหมายจำนวน 26 แปลง เข้าร่วมโครงการ จำนวน 17 แปลง คิดเป็นร้อยละ 65  และในส่วนของกลุ่มแปลงใหญ่อีก 1,802 แปลง ที่ยังไม่พร้อมเข้าร่วมโครงการตามเงื่อนไขดังกล่าว หน่วยงานเจ้าของสินค้าแปลงใหญ่จะเดินหน้าพัฒนาเพื่อปรับปรุงศักยภาพของกลุ่มแปลงใหญ่ต่อไป ทั้งการเชื่อมโยงให้เป็นเครือข่ายกับกลุ่มแปลงใหญ่มีความก้าวหน้าเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และส่งเสริมความเข้มแข็งให้กันและกัน พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมให้กับผู้จัดการแปลงในการวิเคราะห์ และจัดทำแผนของกลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้นโยบายเร่งรัดให้คณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของกลุ่มแปลงใหญ่ให้แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อเบิกจ่ายเงินให้กลุ่มไปจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือในการพัฒนากิจการของกลุ่มตามแผนให้บรลุเป้าหมายต่อไปโดยเร็ว

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการทั้งสองโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำงานร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) อย่างใกล้ชิดเพื่อให้การดำเนินการโครงการประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เป็นไประเบียบบริหารราชการอย่างเคร่งครัด สามารถสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และสร้างความเจริญเติบโตให้กับภาคการเกษตรไทยได้อย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว