การยางฯ ย้ำ !! ประมูลยางโครงการฯ กว่า 1.04 โปร่งใสทุกขั้นตอน
กยท. ชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็นการประมูลยางโครงการฯ กว่า 104,000 ตัน ยืนยันทุกขั้นตอนโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ เป็นไปตามมติ ครม. และบอร์ด กยท. พร้อมย้ำ เป็นการกำหนดเงื่อนไขประมูลยางเสื่อมสภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยางและไม่กระทบตลาดยางใหม่
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการประมูลขายยางในโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ปริมาณ 104,763.35 ตัน ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดย กยท.ได้ดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน2563ให้ กยท. ระบายสต๊อกยางในโครงการดังกล่าว โดยคำนึงถึงระยะเวลา และระดับราคาจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อลดภาระงบประมาณและรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ ทั้งนี้ คณะกรรมการ กยท. มีมติเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ให้ กยท.ดำเนินการระบายสต๊อกยางในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 เนื่องจากเป็นฤดูปิดกรีด ปริมาณผลผลิตมีไม่มาก การระบายยางในช่วงเวลานี้จะมีผลกระทบต่อตลาดน้อยหรือแทบไม่มีผลกระทบเลยประกอบกับอายุประกันภัยยางพาราและสัญญาการเช่าโกดังของโครงการฯ จะครบกำหนดในวันที่ 31 พฤษภาคม นี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล กยท. จึงกำหนดให้บริษัทผู้ชนะการประมูลต้องดำเนินการชำระเงินทั้งหมดให้แก่ กยท.ภายในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 และดำเนินการรับมอบยางให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 หากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนด ผู้ชนะการประมูลต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเองทั้งหมด ซึ่งตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ กยท. ดูแลสต๊อกยางล็อตนี้ต้องจ่ายเงินค่าประกันภัยยางพาราและสัญญาเช่าโกดังรวมกันเป็นเงินกว่า 3,822 ล้านบาท
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากการประมูลยางล็อตนี้มีปริมาณมากถึง 104,763.35 ตัน แบบเหมาคละคุณภาพและคละโกดัง ซึ่งเป็นยางเก่าอายุถึง 9 ปี มีความเสื่อมสภาพ การใช้งานจึงมีความแตกต่างไปจากยางใหม่ อีกทั้งได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า บริษัทผู้ประมูลยางได้ต้องซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูล ดังนั้น กยท. จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติบริษัทผู้เข้ายื่นซอง ที่มีศักยภาพการผลิตและความเข้มแข็งด้านการเงินที่เหมาะสม ซึ่งต้องเคยร่วมประมูลซื้อยางที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทกับ กยท. และโรงงานต้องมีปริมาณการผลิตและแปรรูป มากกว่า 200,000 ตัน ในปี 2563 สำหรับเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน 200 ล้านบาทนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับการประมูลครั้งก่อน ที่คิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์ โดยแค่ให้ยืนหลักฐานแสดงความสามารถในการชำระเงิน หรือหลักฐานที่ธนาคารรับรองไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการระบุอย่างชัดเจนไว้ในประกาศ“กยท. จำเป็นจะต้องกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทมีศักยภาพในการผลิตและแปรรูป ตลอดจนมีความเข้มแข็งทางการเงินพอเพียง เคยซื้อยางกับ กยท. มาก่อน เพื่อการันตีว่าจะไม่สร้างความเสียหายให้กับรัฐ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยาง” ผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อว่า ยางที่ประมูลในครั้งนี้เป็นยางเสื่อมสภาพ ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและการประเมินมูลค่าสต๊อกยาง ทั้งจาก คณะกรรมการบริหารสต๊อกยาง บริษัทผู้ประเมินอิสระ ผู้แทนของเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง กยท. แล้ว การกำหนดราคากลางและหลักเกณฑ์การประมูลคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ และเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ กยท. ที่ได้มีการพิจารณาตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ เหมาะสม และโปร่งใส ทั้งนี้ มีบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติตามประกาศเบื้องต้นและสามารถเข้าร่วมประมูลได้ จำนวน 6 ราย แต่มีเพียงบริษัทที่สนใจเข้ายื่นประมูล จำนวน 1 ราย เท่านั้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีคุณสมบัติครบถ้วนตรงตามที่ระบุไว้ในประกาศทุกประการ ทั้งยังเสนอซื้อยางในราคาที่สูงกว่าที่ กยท. กำหนด สำหรับราคาประมูลนั้น ต้องนำเสนอคณะกรรมการ กยท. ก่อน เพราะหากมีการเปิดเผยอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคายางได้ จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว
กยท. มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการดูแลเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ส่วนหนึ่ง คือ การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของการยางแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการที่พิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรประกอบไปด้วยคณะกรรมการที่เป็นบุคคลทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้ กยท. ไม่เคยมีการอนุมัติให้เอกชนกู้เงินจำนวน 1,200 ล้านบาทตามที่เป็นกระแสข่าวลือแต่อย่างใด ผู้ว่าการ กยท.กล่าวทิ้งท้าย
การยางเเห่งประเทศไทย ข่าว