ปศุสัตว์ทางเลือก

751

แพะเนื้อ จ.อุดรธานี ปศุสัตว์ทางเลือก เลี้ยงง่าย รายได้ดี แนะเฝ้าระวังโรคช่วงฤดูฝน

นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงแพะ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์แพะปี 2560 – 2564 ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะให้ยั่งยืน มีผลผลิตที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการบริโภค การตลาดและการแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากแพะ รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงแพะ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุน

หากมองถึงสถานการณ์การผลิตแพะเนื้อจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ปี 2564 (ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี ณ 13 สิงหาคม 2564) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ 785 ราย แพะเนื้อ 16,713 ตัว มีการเลี้ยงกระจายในหลายอำเภอ แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอเมืองและอำเภอหนองหาน เกษตรกรนิยมเลี้ยงสายพันธุ์ลูกผสมบอร์ เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว อัตราการให้ลูกแฝดสูง และเป็นที่นิยมของตลาด ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,100 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 105 บาท ค่าแรงงาน 867 บาท ค่าอาหาร 140  บาท และส่วนที่เหลือ 988 บาท เป็นค่ายาป้องกันโรค ค่าเวชภัณฑ์ ค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยแม่พันธุ์ 1 ตัว ให้ผลผลิตลูกแพะ 1-3 ตัว/รุ่น สำหรับแพะเพศเมีย จะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือนไปจนถึงอายุประมาณ 5-7 ปี มีระยะเวลาการตั้งท้อง 5 เดือน พักท้อง 1-2 เดือน ส่วนแพะเพศผู้ จะเริ่มผสมพันธุ์ตอนอายุประมาณ 1 ปี หลังจากนั้น 2-3 ปี จะทำการปลดระวางหรือจำหน่ายให้กับฟาร์มอื่น เพื่อป้องกันการเกิดกรณีเลือดชิด ซึ่งแพะจะมีอายุเฉลี่ย 15 ปี เกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้ออายุเฉลี่ย 4-6 เดือน ในราคา 3,000 – 3,500 บาท/ตัว หรือ 120 – 140 บาท/กก. (น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 25 กก./ตัว) ถ้าเป็นพันธุ์ลูกผสมปริมาณเนื้อแดงมาก จะขายได้ในราคา 140 บาท/กก. ส่วนพันธุ์พื้นเมืองเนื้อน้อย จะขายได้ในราคา 120 บาท/กก. คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 900 – 1,400 บาท/ตัว

ด้านสถานการณ์ตลาดแพะเนื้อจังหวัดอุดรธานี เกษตรกรจะจำหน่ายผลผลิตให้กับพ่อค้าผู้รวบรวมจากจังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และสกลนคร เพื่อส่งจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ลาว และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ส่งผลให้ระบบขนส่งภายในประเทศมีความยากลำบาก ราคาในช่วงนี้ลดลงอยู่ที่ 80 – 120 บาท/กก. หากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลาย สามารถส่งออกได้ตามปกติ คาดว่าราคาซื้อขายแพะเนื้อจะมีการปรับตัว ไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ผู้อำนวยการ สศท.3 กล่าวเพิ่มเติมว่าการเลี้ยงแพะเนื้อจะใช้พื้นที่ไม่มากนัก สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เช่น อาหารหยาบ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้าสด ใบกระถินส่วนอาหารข้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปรำข้าวละเอียด และยังมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี แพะเนื้อจึงเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว และใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียนตลอดปี และให้ผลตอนแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรเฝ้าระวังโรคท้องอืด ท้องเสีย พยาธิ และในช่วงหน้าฝนอาจต้องเสริมอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารข้น เช่น รำข้าวละเอียด และให้กินก้อนแร่ธาตุเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้นม ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตแพะเนื้อจังหวัดอุดรธานี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี โทร 0 4222 2984 หรือ สศท.3 อุดรธานี โทร 0 4229 2557 หรืออีเมล์ [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว