แนะป้องกันศัตรูลำไย

1,020

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะป้องกันศัตรูลำไย เพื่อรักษาผลผลิตลำไยนอกฤดู

นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ผลผลิตลำไยขณะนี้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาลที่ลำไยให้ผลผลิตมาก ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน สำหรับผลผลิตลำไยในช่วงเดือนตุลาคม ถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ จะเป็นลำไยนอกฤดูกาล จึงแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงเพาะปลูก ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อรักษาผลผลิตพร้อมออกจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยแนะนำให้เฝ้าระวังศัตรูลำไย 4 ประเภท ได้แก่ เพลี้ยแป้ง มวนลำไย ผีเสื้อมวนหวาน และโรคพุ่มไม้กวาดหรือไรสี่ขา

นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพลี้ยแป้ง จะเข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอดอ่อน ช่อดอก และผลลำไย หากระบาดรุนแรงจะทำให้บริเวณที่ถูกทำลายเหี่ยวแห้งไปในที่สุด และเพลี้ยยังถ่ายมูลซึ่งเป็นน้ำหวานออกมาเป็นแหล่งเพาะราดำ ทำให้ลำไยเสียคุณภาพ ซึ่งเพลี้ยแป้งจะเคลื่อนย้ายจากพื้นดินขึ้นบนต้นลำไยตั้งแต่ระยะแทงตาดอกจนถึงผลแก่ โดยมีมดเป็นพาหะพาไปยังส่วนต่างๆ  ของต้น ทำให้การระบาดของเพลี้ยแป้งรุนแรงขึ้น สามารถป้องกันได้โดยพ่นสารกำจัดแมลงไว้ที่โคนต้น ประกอบกับควบคุมโดยวิธีการพ่นเชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 250 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ หรือพ่นด้วยน้ำยาล้างจานชนิดไม่มีสารฟอกขาว อัตราส่วน 3 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 20 ลิตร ซึ่งมีฤทธิ์ลดแรงตึงผิว ทำให้ขี้ผึ้งที่เพลี้ยแป้งสร้างคลุมตัวเสียไป และหายใจไม่ได้ จนฝ่อแห้งไปในที่สุด

สำหรับมวนลำไยเข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงของยอดที่ออกดอกและติดผล ทำให้ดอกและผลร่วง กิ่งอ่อนและเปลือกผลลำไยมีสีดำคล้ำ จึงควรป้องกันโดยอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียน และหลีกเลี่ยงการใช้สารกำจัดแมลง ซึ่งอาจทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติไปด้วย นอกจากนี้ควรตัดแต่งทรงพุ่มต้นลำไยไม่ให้หนาทึบเกินไป กำจัดวัชพืชในแปลง ป้องกันการหลบซ่อนอาศัยของมวนลำไยได้

ในส่วนของ ผีเสื้อมวนหวาน ที่เข้าทำลายโดยใช้ปากเจาะผล เกิดรูเป็นรอยวงสีน้ำตาลมีน้ำหวานไหลออกมาซึ่งจะดึงดูดแมลงชนิดอื่นเข้าทำลายซ้ำจนผลร่วงได้ วิธีการป้องกันคือ ห่อผลด้วยกระดาษถุงปูน หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ โดยห่อเป็นรูปกรวยสามเหลี่ยม เปิดปลายโคนเป็นช่องอากาศผ่านเพื่อไม่ให้ผลเน่า และวางกับดักแสงไฟจากหลอดแบล็คไลท์สูงจากพื้น 1.2 เมตร ใต้หลอดไฟวางถาดน้ำมันหรือน้ำผงซักฟอก ในช่วงเวลา 20.00 – 22.00 น. เพื่อกำจัดศัตรูที่บินเล่นไฟในช่วงเวลาดังกล่าวตกลงมาจมน้ำตาย นอกจากนี้ให้ใช้แสงสปอตไลท์ หรือหลอดไฟ 60 – 100 วัตต์ ไล่แมลงประกอบด้วย โดยทิ้งระยะห่างกัน 30 – 50 เมตร รอบสวน หากในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าสามารถใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด (เจ้าพายุ) ทดแทนได้ โดยแขวนตะเกียงให้สูงประมาณ 1.5 เมตร จากพื้นดิน และแต่ละช่วงห่างกัน 15 – 25 เมตร ป้องกันศัตรูเข้าทำลายในช่วงลำไยให้ผลผลิตได้

และศัตรูตัวสุดท้ายคือ ไรสี่ขา เข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบอ่อน ทำให้ใบยอดแตกฝอยเป็นพุ่มกระจุก  มีข้อปล้องสั้นคล้ายพุ่มไม้กวาด ดอกแห้งไม่ติดผล หรือติดผลได้น้อย หากรุนแรง ต้นจะโทรม วิธีป้องกันคือ หมั่นสำรวจสวนหรือแปลงปลูก ใช้พันธุ์สะอาดและต้านทานโรค เช่น พันธุ์อีดอ และอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ไรตัวห้ำ เป็นต้น

“หากศัตรูพืชเข้าทำลายในปริมาณมากอาจใช้สารเคมีชนิดต่างๆ ร่วมกำจัดด้วย โดยไม่ควรพ่นสารในช่วงออกดอก เริ่มติดผลอ่อน และช่วง 14 วันก่อนเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ สามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน” นายเข้มแข็ง กล่าว

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว