ตั๊กแตนทะเลทราย ไม่เข้าไทย

1,527

ตั๊กแตนทะเลทราย ไม่เข้าไทย

กรมวิชาการเกษตร  เกาะติดสถานการณ์ตั๊กแตนทะเลทราย พร้อมจัดทำทุกมาตรการสยบทัพตั๊กแตนจู่โจมไทย  โล่งผู้เชี่ยวชาญตั๊กแตน FAO ฟันธงตั๊กแตนเบรกเข้าไทย  ชี้ภูมิอากาศไม่เอื้อขยายพันธุ์ตั้งรกราก   เผยตั๊กแตนทะเลทรายถูกจัดอันดับศัตรูพืชร้ายแรงระดับโลก ทั้งสุดยอดนักบิน  นักกิน  และนักขยายพันธุ์   

นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ชี้แจงสถานการณ์การระบาดล่าสุดของตั๊กแตนทะเลทราย ว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้รายงานสถานการณ์ปัจจุบันฝูงตั๊กแตนทะเลทรายจำนวนมากได้แพร่ระบาดเข้าไปในเขตตะวันออกของปากีสถาน  ซึ่ง FAO ได้ออกแถลงการณ์ว่าตั๊กแตนทะเลทรายได้แพร่ขยายพันธุ์ต่อไปตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศอิหร่าน  แนวชายแดนของปากีสถาน  และอินเดีย  โดยในขณะนี้พบการระบาดของฝูงตั๊กแตนใน 13 ประเทศ ได้แก่ เคนยา เอธิโอเปีย เอริเทรีย โซมาเลีย ซูดานใต้ อูกันดา จิบูตี เยเมน โอมาน ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อินเดีย และปากีสถาน   ซึ่งการระบาดของฝูงตั๊กแตนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของตั๊กแตน

นับตั้งแต่ทาง FAO ได้แจ้งข้อมูลการระบาดของตั๊กแตนทะเลทราย  ซึ่งจัดเป็นเป็นศัตรูพืชที่มีความร้ายแรงระดับโลก กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่องค์กรอารักขาพืชแห่งชาติของประเทศไทยได้ประสานงานกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโรมและผู้เชี่ยวชาญด้านตั๊กแตนทะเลทรายของ FAO อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องมาโดยตลอด  ซึ่งได้รับคำยืนยันว่าโอกาสที่ตั๊กแตนจะแพร่ระบาดเข้ามาถึงประเทศไทยมีน้อยมาก  เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทยไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและการตั้งรกรากเพื่อขยายพันธุ์ของแมลงชนิดนี้   ซึ่งชอบสภาพอากาศแห้งแล้งแบบทะเลทราย  รวมทั้งกระแสลมตะวันออกจะพัดพาตั๊กแตนให้บินไปทิศตะวันตกมากกว่าที่จะมาถึงไทย  

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวังแมลงศัตรูพืชชนิดนี้ไม่ให้เข้ามาแพร่ระบาดทำความเสียหายผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย   กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำมาตรการเฝ้าระวังและวางแผนที่จะทำการสำรวจเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันการเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยไว้ล่วงหน้าแล้ว  โดยสำรวจแปลงพืชอาหารของตั๊กแตนทะเลทรายที่อยู่ในบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีรายงานการระบาด  ตรวจสอบชนิดของตั๊กแตน โดยเปรียบเทียบกับรูปภาพตั๊กแตนทะเลทราย   ในกรณีที่พบมีลักษณะใกล้เคียงตามภาพตัวอย่าง   บันทึกตำแหน่งพิกัดภูมิศาสตร์จุดที่ให้เก็บตัวตั๊กแตนใส่ถุงพลาสติกที่เตรียมไว้ และนำส่งที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร  เพื่อนำมาจำแนกชนิดว่าเป็นตั๊กแตนทะเลทรายหรือไม่

ในกรณีพบในเขตประเทศไทย ให้ทำการป้องกันกำจัดโดยวิธีการที่เหมาะสม เช่น ใช้ตาข่ายหรือสวิงจับตัวตั๊กแตนมาทำลายเพื่อป้องกันไม่ให้ตั๊กแตนผสมพันธุ์และวางไข่  ทำการป้องกันกำจัดโดยใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งได้แก่  ฟิโพรนิล   อีโทเฟนพรอกซ์  เดลทาเมทริน แลมป์ดาไซฮาโลทริน  หรือพ่นด้วยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม  หรือสารชีวภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เชื้อโปรโตซัว  นอกจากนี้ ยังสามารถนำตั๊กแตนทะเลทรายมาบริโภคได้โดยทอดให้สุกเช่นเดียวกับตั๊กแตนปาทังก้า

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวต่อไปว่า  ตั๊กแตนทะเลทราย เป็นตั๊กแตนที่อพยพเป็นกลุ่มใหญ่ เพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว  สามารถกินพืชได้หลายชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง  ข้าวบาร์เลย์ อ้อย หญ้าเลี้ยงสัตว์ ฝ้าย ไม้ผล พืชผัก และวัชพืช โดยกินได้ทุกส่วนของพืช  และสามารถกินอาหารได้ตลอดอายุไข ตั๊กแตนตัวเต็มวัยสามารถกินอาหารได้ในปริมาณเท่าน้ำหนักตัวต่อวัน (ประมาณ 2 กรัม/ตัว/วัน)  หากมีการระบาดจะเกิดความเสียหายรุนแรง รวดเร็ว และเกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

ตั๊กแตนทะเลทราย  มีอายุยาวนานถึง 9 เดือน  บินตามกระแสลมด้วยความเร็วประมาณ 19 กิโลเมตร/ชั่วโมง   และบินสูงถึง 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล  บินได้นาน 10 ชั่วโมงต่อครั้ง  สามารถเดินทางได้ประมาณ 130 กิโลเมตร / วัน   เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วช่วงฤดูฝนที่มีพืชอาหารอุดมสมบูรณ์  และสามารถเพิ่มจำนวนได้ถึง 16 เท่าในรุ่นต่อไป ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรที่มีตั๊กแตนประมาณ 40 ล้านตัว ใน 1 วันสามารถกินอาหารในปริมาณเดียวกับคน 35,000 คน  หรือช้าง 6 ตัว

พนารัตน์   เสรีทวีกุล : ข่าว กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร โทร.062 345 1821