เน้นตั้งสหกรณ์คุณภาพ

741

กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนดแนวทางตั้งสหกรณ์เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการและกำชับให้สหกรณ์จังหวัดและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ทั่วประเทศ กำหนดแนวทางในการรับจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ โดยเน้นการจัดตั้งสหกรณ์ที่มีคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณ ปัจจุบันประเทศไทยแบ่งสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์ รวม 6,730 แห่ง สมาชิกสหกรณ์ประมาณ 11.43 ล้านคน แบ่งเป็น สหกรณ์ในภาคเกษตร 3,503 แห่ง สมาชิก 6.3 ล้านคน สหกรณ์นอกภาคเกษตร 3,227 แห่ง สมาชิก 5.037 ล้านคน มีปริมาณธุรกิจในระบบสหกรณ์รวมกว่า 2.23 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ปริมาณธุรกิจของสหกรณ์ภาคการเกษตรลดลง 7,555 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของสหกรณ์ เนื่องจากบริษัทเอกชนที่รับซื้อผลผลิตหยุดกิจการหรือชะลอการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายตลาดในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ปริมาณธุรกิจสหกรณ์นอกภาคการเกษตร กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้น 65,599 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.48

“การตั้งสหกรณ์ที่มีคุณภาพ ถือว่าเรื่องนี้เป็นการติดกระดุมเม็ดแรก หากกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดได้วางแนวทางร่วมกันในเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ที่มีคุณภาพ ปัญหาที่จะตามมาในอนาคตก็จะน้อยลง ดังนั้น การตั้งสหกรณ์ขึ้นใหม่จะต้องเกิดจากความจำเป็นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน ต้องมีความพร้อม และสามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์มีความตั้งใจที่จะสร้างสหกรณ์การเกษตรในระดับอำเภอให้มีความแข็งแกร่ง สามารถดูแลส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรในอำเภอนั้น ๆ ได้ โดยในปี 2564 นี้ มีการตั้งสหกรณ์เพิ่มขึ้นประมาณ 40 แห่ง ซึ่งถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2561-63 ปีก่อน ที่มีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นใหม่ประมาณ 70 – 90 แห่ง หากย้อนดูจากสถิติเก่า สหกรณ์ที่ตั้งใหม่บางแห่งเหมือนไม้บอนไซไม่สามารถที่จะโตได้ แต่ถ้าเราเอาความรู้เอาสรรพกำลังมาขับเคลื่อนสหกรณ์ ที่เป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ แล้วให้เขาขับเคลื่อนด้วยตัวของเขาเองโดยที่เขามีเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ มีคณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพ ได้รับการฝึกฝน ได้รับความรู้แล้วไปขับเคลื่อนสหกรณ์ ไปพัฒนากลุ่มอาชีพ ไปทำกลุ่มสมาชิกที่มีคุณภาพ ไปขยายกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เปิดรับเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น เพื่อให้เขามาทำธุรกิจกับสหกรณ์ ก็จะช่วยให้สหกรณ์เจริญเติบโต เป็นปึกแผ่น และสามารถใช้อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมารองรับผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์ได้อย่างเต็มที่ เต็มศักยภาพ” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 ยังเน้นย้ำเรื่องของการนำหลักธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารจัดการและดำเนินธุรกิจในสหกรณ์ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตและความเสียหายแก่สหกรณ์และตัวสมาชิกได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลสหกรณ์แต่ละแห่ง จะต้องมีการป้องปราม หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับสหกรณ์ ไม่ใช่ต้องมาแก้ไขปัญหา ในภายหลัง หากสหกรณ์ใดที่ดำเนินการได้ดีแล้ว ก็จะให้การสนับสนุนคอยดูแลเป็นพี่เลี้ยง แต่สหกรณ์ไหนที่มีปัญหาในการดำเนินงาน เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปดูแลใกล้ชิดและสัมผัสกับสหกรณ์มากขึ้น และทำงานที่เป็นงานส่งเสริมสหกรณ์มากขึ้นกว่าเดิม  ขณะเดียวกัน สหกรณ์แต่ละแห่งก็มีการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี เพื่อเป็นทุนในการส่งเสริมอาชีพ การจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิก และยังมีทุนอีกส่วนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนากิจการของสหกรณ์ได้ จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ใช้กระบวนการของการมีส่วนร่วม ในการให้คำแนะนำ หรือประชุมหารือเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จในสหกรณ์แต่ละแห่ง โดยจัดทำเป็นโครงการที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์ในแต่ละด้าน และดูแลอาชีพของตัวสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคง และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในที่สุด

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ข่าว