คุมเข้มตรวจโรคและสารตกค้าง

562

ประมงแจงมาตรการคุมเข้มตรวจโรคและสารตกค้างในสินค้ากุ้งทะเลที่จะนำเข้า

ตามที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวถึงข้อกังวลของนายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย ในประเด็นการที่จะนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศของผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูป เพื่อพยุงอุตสาหกรรมการส่งออกกุ้งทะเล ตลอดจนรักษาฐานตลาดคู่ค้าของประเทศไทยไว้  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและเสถียรภาพราคากุ้งทะเลภายในประเทศ

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า จากฐานข้อมูลผลผลิตกุ้งทะเลที่มาจากการเพาะเลี้ยงของสถิติกรมประมงย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี ผลผลิตกุ้งทะเลภายในประเทศจะมีปริมาณไม่มากนัก โดยเฉลี่ยประมาณ 19,000 ตันต่อเดือน และคาดการณ์ว่าผลผลิตกุ้งทะเลในปี 2564 จะมีปริมาณ 258,000 ตันโดยประมาณ ซึ่งลดลงประมาณร้อยละ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา และจากแนวโน้มของผลผลิตกุ้งภายในประเทศที่ลดลงนี้ ตัวแทนผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูป จึงได้ร่วมกับตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ และยังคงมีศักยภาพทางการแข่งขันในระดับโลก ซึ่งผลสรุปทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรในราคาที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งทะเลภายในประเทศไว้ โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp board) โดยเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 – 15 เมษายน 2565

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์
รองอธิบดีกรมประมง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมประมงยังคงชะลอการนำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐอินเดียและสาธารณรัฐเอกวาดอร์ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ  ซึ่งมีข้อกำหนดในการพิจารณาหลายมิติครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนผ่านการนำเข้ากุ้งทะเลแช่แข็งอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเทศต้นทางที่ไทยจะนำเข้าสินค้ากุ้งทะเลนั้นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนดอย่างเข้มงวด ได้แก่ ทุกรุ่นสินค้ากุ้งทะเลที่นำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์น้ำที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย (Competent Authority: CA) ของประเทศต้นทาง โดย CA ของประเทศต้นทางต้องรับรองสถานะปลอดเชื้อก่อโรคในสินค้ากุ้งทะเลเหล่านั้น และเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย สินค้าจะต้องเข้าสู่ระบบกักกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงดำเนินการสุ่มตรวจเชื้อก่อโรคกุ้งทะเลที่สำคัญอีกครั้ง ทั้งเชื้อก่อโรคตามบัญชีรายชื่อของ OIE ได้แก่ โรคไอเอ็มเอ็น (IMN) โรคตัวแดงดวงขาว (WSD) โรคหัวเหลือง (YHD) โรคทีเอส (TS) โรคไอเอชเอชเอ็น (IHHN) โรคเอ็นเอชพี (NHP) และเชื้อที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อ OIE เช่น โรคดีไอวี วัน  (DIV 1) ภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 รวมทั้งมีการสุ่มตรวจสารตกค้าง เช่น Chloramphenicol Nitrofurans และ Malachite green ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยการสุ่มตัวอย่างทั้งหมดสอดคล้องตามหลักการสากลตามที่ OIE และ CODEX กำหนดไว้ และหากมีการตรวจพบเชื้อก่อโรคและ/หรือตรวจพบสารตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐาน สินค้าเหล่านั้นจะถูกทำลายหรือตีกลับประเทศต้นทางทันที

รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า จากมาตรการของกรมประมงข้างต้น จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลได้มั่นใจว่า สินค้ากุ้งทะเลที่จะสามารถนำเข้ามาในประเทศไทยได้นั้น จะต้องมาจากแหล่งผลิตต้นทางที่มีระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพ  โดยนอกจากจะถูกตรวจสอบและรับรองจากประเทศต้นทางแล้ว ยังมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดอีกครั้งเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย

กรมประมง ข่าว