เกษตรฯ ชูความสำเร็จ ศพก. เครือข่าย แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรในชุมชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด การให้บริการทางการเกษตร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่แก่เกษตรกร เน้นย้ำความสำเร็จแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรในชุมชนที่สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้า และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP) ได้จริง
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรในระดับชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ขึ้น อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรทุกด้าน ทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด การให้บริการทางการเกษตร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่แก่เกษตรกร ซึ่งนอกจากจะมีการจัดตั้งศูนย์ ศพก.หลักในทุกอำเภอแล้ว ต่อมาสำนักงานเกษตรจังหวัดร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอได้มีการพัฒนาและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. เครือข่าย) ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรเฉพาะด้านของชุมชน และช่วยเสริมหนุนในการขับเคลื่อน ศพก. หลักของอำเภอ โดยศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนเพาะเห็ดบ้านป่าครองชีพ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นตัวอย่างของเครือข่าย ศพก. แห่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน และช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยเป็นแปลงเรียนรู้ในการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพเห็ดของสมาชิกแปลงใหญ่ รวมถึงยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร จนได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในการผลิตเห็ดนางฟ้า ซึ่งถือเป็นเห็ดอินทรีย์รายแรกของจังหวัดภูเก็ต
ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนเพาะเห็ดบ้านป่าครองชีพ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. เครือข่าย) ของอำเภอถลาง และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน เนื่องจากสถานที่มีความพร้อม และเกษตรกรเจ้าของศูนย์มีความรู้ความชำนาญในการผลิตเห็ด โดยใช้หลักทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการจัดสรรพื้นที่ 5 ไร่ ภายในสวนยางพาราได้อย่างลงตัว ปลูกผักเหมียง ไผ่กิมซุง ข่า เลี้ยงไก่ไข่ ผึ้ง และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการคิดค้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้พัฒนาการเกษตรของตนเองในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และสร้างรายได้แก่ครอบครัว ต่อมาในปี 2562 ศพก. เครือข่ายแห่งนี้ได้กลายเป็นแปลงเรียนรู้ในการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพเห็ดของสมาชิกในการดำเนินงานระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้วย ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตพืชตามหลักการเกษตรที่เหมาะสม (GAP) และเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) และมีการขยายผลไปสู่เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่อำเภอถลางและใกล้เคียงอีกด้วย
นายเจริญ สลับศรี ประธานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนเพาะเห็ดบ้านป่าครองชีพ กล่าวว่า ตนเองเริ่มต้นทำการเกษตรจากการทำสวนยางพารา ในพื้นที่ 5 ไร่ และปลูกผักพื้นบ้านเล็กน้อย แต่เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายในครัวเรือน จึงปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการปลูกยางพาราเชิงเดี่ยว เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน และเพาะเห็ดเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และได้พัฒนามาเรื่อย ๆ จนจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ของนักศึกษา กศน. อำเภอถลาง ใช้ชื่อว่า “ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนเพาะเห็ดบ้านป่าครองชีพ” จนกระทั่งกลายเป็น ศพก. เครือข่าย ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ต่อปีจากการจำหน่ายสินค้าต่างๆ ได้แก่ ก้อนเห็ด 176,172 บาท ดอกเห็ด 784,280 บาท ผักเหมียง 33,680 บาท และ ข่า 73,780 บาท นอกจากนี้ตนเองกำลังวางแผนพัฒนาให้เป็น ศพก. เครือข่ายที่มีความพร้อมทั้งการเกษตรและเทคโนโลยี เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่มีพร้อมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อช่วยยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานอินทรีย์ในพืชชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดในอนาคต
กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว