เเนะเตรียมความพร้อมรังผึ้ง

827

เกษตรฯ แนะเตรียมความพร้อมรังผึ้ง เพิ่มปริมาณและคุณภาพน้ำผึ้ง

นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บน้ำผึ้งแล้ว โดยผึ้งจะออกเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ป่าและดอกสาบเสือที่เริ่มผลิดอกบานในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูกาลที่ไม้ผลบางชนิดเริ่มออกดอก ได้แก่ ลิ้นจี่ (มกราคม – กุมภาพันธ์) และลำไย (กุมภาพันธ์ – เมษายน) ดังนั้น เพื่อให้ได้น้ำผึ้งในปริมาณมาก และมีคุณภาพดี  กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอแนะนำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งเตรียมความพร้อมของผึ้งและอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนี้ ด้านผึ้ง นางพญา และประชากรผึ้งภายในรัง ต้องมีความแข็งแรงสมบูรณ์ และอยู่ในวัยที่พร้อมออกหาน้ำหวาน จำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000 – 60,000 ตัวต่อรัง  หากเกษตรกรสำรวจพบว่าประชากรผึ้งในรังมีจำนวนน้อยเกินไป ควรเพิ่มประชากรหรือรวมรังผึ้งเข้าด้วยกันโดยเร็วเพื่อให้ทันกับฤดูกาลดอกไม้บาน  ส่วน ด้านการเตรียมพร้อมอุปกรณ์สำคัญ  ควรเตรียมกล่องเลี้ยงผึ้ง พร้อมคอน โดยเกษตรกรอาจใช้คอนรวงผึ้งที่ผึ้งงานได้สร้างหลอดรวงแล้ว ประมาณ 10 เท่าของจำนวนรัง แผ่นรังเทียม และคอนรวงผึ้งที่ดึงหลอดรังแล้ว ตลอดจนอุปกรณ์ในการเก็บและสลัดน้ำผึ้ง ได้แก่ มีดปาดรวง ถังสลัดน้ำผึ้ง ถังเก็บน้ำผึ้ง เป็นต้น โดยเกษตรกรควรตรวจเช็ค ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งาน

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการสำรวจหาแหล่งอาหารและที่ตั้งรังเลี้ยงผึ้ง เกษตรกรควรเลือกพื้นที่หรือสวนที่พืชที่ให้น้ำหวานขึ้นกระจายตัวเป็นแนวกว้าง และหนาแน่น มีความร่มรื่น มีไม้บังลม เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการบินของผึ้ง และมีความชุ่มชื้นซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณน้ำหวานมากกว่าสวนที่มีการให้น้ำไม่เพียงพอ ระมัดระวังไม่ให้มีศัตรูธรรมชาติ เช่น นก ต่อ มด เป็นต้น  ขนส่งสินค้าได้สะดวก รวมทั้งต้องไม่มีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่และบริเวณข้างเคียงในรัศมี 1 กิโลเมตรด้วย เนื่องจากผึ้งมีความอ่อนไหวต่อสารเคมีสูง อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศในช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีสภาพอากาศแปรปรวน ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกชุก เกษตรกรควรตรวจสอบสภาพอากาศ และคาดการณ์การเกิดอุทกภัยในพื้นที่ที่ตั้งวางรังผึ้ง เพื่อวางแผนการตั้งรัง สถานที่ตั้ง การดูแลและเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ เกษตรกรควรมีการบันทึกน้ำหนักรัง เพื่อใช้ในการตัดสินใจย้ายรังผึ้ง เมื่อน้ำหนักของรังไม่เพิ่มขึ้นภายใน 2 – 3 วัน ต้องทำการตรวจสภาพของรัง กรณีมีการใช้สารเคมีในพื้นที่ใกล้เคียง และพบผึ้งตายผิดปกติให้รีบปิดรัง และช่วยระบายความร้อนโดยใช้ตะแกรงมุ้งลวดปิดทางเข้าออกแทนฝาครอบรัง และใช้กระสอบป่านหรือผ้าชุ่มน้ำห่อหุ้มรังตลอดเวลากลางวัน หรือนำผึ้งออกจากบริเวณที่ใช้สารเคมี รวมทั้งให้ตรวจผึ้งแม่รังมีที่วางไข่ และผึ้งงานมีที่เก็บสะสมน้ำผึ้งอย่างเพียงพอ และในการเก็บน้ำผึ้ง เกษตรกรควรเลือกเฉพาะคอนน้ำผึ้งที่ปิดฝาหลอดรวงแล้ว 30 – 70 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้แปรงปัด หรือเขย่า ให้ผึ้งหลุดออกจากคอนให้หมด และใช้มีดปาดฝาหลอดรวงออก นำคอนผึ้งใส่ในถังสลัดน้ำผึ้ง และเหวี่ยงจนน้ำผึ้งหมดหลอดรวง หลังจากนั้นให้นำน้ำผึ้งที่ได้มากรองผ่านตระแกรงหยาบ และละเอียด เพื่อกรองเศษไขผึ้ง และตัวผึ้งออก จากนั้นใส่ถังบ่มทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อให้เศษไขผึ้งและผงละเอียดลอยขึ้นด้านบนแล้ว จึงจะสามารถนำน้ำผึ้งไปบรรจุในภาชนะสำหรับบรรจุอาหาร เพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอเชิญชวนผู้สนใจบริโภคน้ำผึ้งแท้ จาก “เกษตรกรตัวจริง ทุกสิ่งปลอดภัย” ผ่านช่องทางสั่งซื้อ “ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว