เกษตรฯ ชวนอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร สร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น หนุนเที่ยวเชิงเกษตรสร้างรายได้ชุมชน
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อปรับใช้ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย ซึ่งเริ่มสูญหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากขาดผู้สืบทอด ไม่มีผู้นำกลับมาใช้ประโยชน์ และมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทน กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร จึงได้ศึกษารวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตร เพื่อนำมาอนุรักษ์ รื้อฟื้น ประยุกต์ และพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืน
เกาะพยาม เป็นตำบลหนึ่งในเขตอำเภอเมือง จังหวัดระนอง ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน มีสภาพภูมิศาสตร์และความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรเดิมในชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดระนอง รวมทั้งเป็นแหล่งปลูกมะม่วงหิมพานต์ หรือกาหยู แหล่งใหญ่ของภาคใต้ ปัจจุบันจังหวัดระนองมีพื้นที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 6,000 ไร่ โดยจำนวน 4,614 ไร่ ปลูกในพื้นที่เกาะพยาม กรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ และส่งเสริมให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง พันธุ์เกาะพยาม ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ในพื้นที่ ปัจจุบันแปลงใหญ่มะม่วงหิมพานต์เกาะพยาม มีสมาชิก 40 คน พื้นที่ 1,256 ไร่ มีการบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาตามประเด็นแปลงใหญ่ 5 ด้าน ได้แก่ ลดต้นทุนการผลิต จะเน้นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ การตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก โดยคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จากต้นพันธุ์ดีมีคุณภาพ เพาะขยายพันธุ์เอง ส่งเสริมให้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง และใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้สามารถลดต้นทุนจากเดิมไร่ละ 800 บาท เหลือไร่ละ 400 บาท ผลผลิตจากเดิมไร่ละ 50-60 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 110 กิโลกรัม ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน GAP และสินค้า OTOP สามารถแปรรูปจำหน่ายได้ราคาดี มีการบริหารจัดการตลาด โดยรวบรวมผลผลิตในรูปแบบกลุ่มส่งตลาด สร้างตลาดเครือข่ายรวบรวมสินค้า การตลาดออนไลน์
นอกจากนี้ มีการต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม และขยายผลไปที่เกษตรกรรายใหม่ ๆ ให้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกับแปลงใหญ่และรวบรวมสมาชิกเพิ่มเติม มีแปลงต้นแบบที่เป็นแหล่งเรียนรู้ และร่วมกันจัดทำแผนที่เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว ระหว่างแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (สวนมะม่วงหิมพานต์) โดยเริ่มจากการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมบริการที่พัก การจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวศึกษาดูงานด้านการเกษตรการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งสามารถรับนักท่องเที่ยวได้ปีละ 700-800 คน นอกจากนี้ได้พัฒนาแปรรูปพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะมะม่วงหิมพานต์ ในรูปแบบของการเผาแบบโบราณ แบบคั่วเกลือ และแบบอบธรรมชาติ ทำให้มีรสชาติหอม หวาน มัน อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เทียนหอม สมุนไพรไล่ยุง สะตอดอง เป็นต้น จำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว และจัดส่งขายตามตลาดต่างๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมอีกหนึ่งช่องทาง ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านการท่องเที่ยว ในส่วนกิจกรรมส่งเสริมการเกษตรเชิงท่องเที่ยว เน้นสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเกาะพยาม เที่ยวชมตลาดใต้ม่วง ตลาดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเกษตรกรโดยตรง จัดกิจกรรมทัวร์สวนมะม่วงหิมพานต์ ชมการสาธิตและให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองต้ม อบ คั่ว เผา กะเทาะ ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม คือ ใช้เตาฟืน จะทำให้ได้กลิ่นหอมน่ารับประทาน เป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาต่อยอด ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชนและตัวเกษตรกรเอง รวมทั้งเป็นการทำการเกษตรเชิงอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ด้านนายอดิศักดิ์ ขาวผ่อง ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง ได้ร่วมกันจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตร และแนวทางการพัฒนามะม่วงหิมพานต์เกาะพยาม โดยชุมชนต้องการผลักดันพัฒนาให้มะม่วงหิมพานต์เกาะพยามเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อขยายช่องทางการตลาดให้มากขึ้น และอนุรักษ์พันธุ์ดั้งเดิมโดยการขยายพันธุ์ด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและขยายพื้นที่ปลูก ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ซึ่งวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม สำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง จะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ จัดอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกของกลุ่มเพิ่มเติม และเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ด้วยทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น สร้างความหลากหลาย โดยเฉพาะกิจกรรมการคั่วมะม่วงหิมพานต์แบบโบราณ นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน และได้จัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตมะม่วงหิมพานต์แบบครบวงจร เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาเที่ยวชมเกาะพยาม ท่านจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่นี่รับรองว่าจะมีรอยยิ้มกลับไปแน่นอน
กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว